ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จากผลการศึกษาวิจัยเพื่อติดตาม และประเมินผลโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน หรือ ทุนโอดอส ตั้งแต่รุ่นที่ 1-4 ซึ่งดำเนินการมากว่า 10 ปี รัฐลงทุนด้วยงบประมาณกว่า 13,000 ล้านบาท มีนักเรียนทุนจบการศึกษากว่า 3,000 คน เป้าหมายของโครงการนี้ คือการเปิดโอกาสให้เด็กที่ครอบครัวมีฐานะยากจน มีรายได้ไม่เกิน 200,000บาท/ปี ได้เข้าถึงการศึกษาในระดับสูงมากขึ้น แต่จุดอ่อน คือไม่มีการกำหนดเงื่อนไขต้องชดใช้ทุน เปิดโอกาสให้นักเรียนยุติการศึกษาในต่างประเทศกลับมาศึกษาต่อในประเทศได้ และขาดการรับรองการทำงานของนักเรียนทุนภายหลังสำเร็จการศึกษา ขณะที่สาขาวิชา และประเทศที่นักเรียนเลือกไปศึกษาไม่สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น
ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวต่อไปว่า จากการศึกษาข้อมูลการมีงานทำของผู้รับทุนรุ่นที่ 1-2 ภายหลังสำเร็จการศึกษา พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 73.70 ทำงานในภาคเอกชน รองลงมาร้อยละ 11.93 อยู่กับภาครัฐ และร้อยละ 10.73 ศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์มองความคุ้มทุนของโครงการนี้ว่า การลงทุนในระยะปัจจุบันอยู่ในภาวะขาดทุน เพราะผู้รับทุนส่วนใหญ่ทำงานให้ภาคเอกชน ทั้งที่รัฐเป็นผู้ลงทุนแต่กลับได้รับผลตอบแทนน้อยมาก
"เรื่องนี้รัฐต้องคิดให้หนัก ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าจะต้องสนับสนุนให้เด็กทุนโอดอสเข้ารับราชการอย่างน้อย 50-60% ซึ่งปัจจุบันมีเด็กเรียนหมอบางคนจบมาแล้วยังไม่มีอัตราบรรจุ เป็นได้แค่ลูกจ้างของโรงพยาบาล บางคนอยากเป็นครูก็เป็นไม่ได้ เพราะไม่ได้จบสายครูโดยตรงและไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ" ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว
ที่มา หนังสือพิมพ์สยามรัฐ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2558