เครือข่ายสตรีและเยาวชนเด็ก สำรวจความคิดเห็นเด็กประถม มีถึงกว่า 70.6% ที่เห็นว่ากิจวัตรของคนในครอบครัวที่น่าห่วงคือพฤติกรรมติดมือถือ เล่นไลน์ เฟซบุ๊ก นำเสนอ พม.แก้ปัญหา พร้อมจี้ปรับทัศนคติผู้ชายเลิกรุนแรงต่อเด็ก-ผู้หญิง...
เมื่อวันที่ 30 พ.ย.58 ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้จัดการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล นำเครือข่ายสตรีและเยาวชน ยื่นหนังสือถึง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.พม.ผ่านนายไมตรี อินทุสุต ปลัด พม. เพื่อนำเสนอผลสำรวจสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว พร้อมข้อเสนอต่อพม. เนื่องในโอกาสเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก
นายจะเด็จ กล่าวว่า จากข้อมูลที่มูลนิธิฯ ลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นของเด็กระดับชั้น ป.4-6 จำนวน 1,464 คน ในโรงเรียนพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑลและต่างจังหวัด ต่อสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว พบถึงร้อยละ 85.1 ยอมรับว่าคนในครอบครัวเคยมีปากเสียงทะเลาะกัน ร้อยละ 70.6 ระบุกิจวัตรของคนในครอบครัวที่น่าห่วงคือ ติดมือถือ เล่นไลน์ เฟซบุ๊ก ร้อยละ 63.4 เห็นภาพการโต้เถียง ด่าทอ พูดจาหยาบคาย ร้อยละ 62.8 พ่อแม่ทำงานหนักไม่มีเวลาให้ลูก และร้อยละ 57 คนในครอบครัวดื่มเหล้า/เบียร์/เล่นการพนันอบายมุข
ทั้งนี้ มีข้อเสนอต่อ พม. นำไปพิจารณาดังนี้ 1. ขอให้มีกิจกรรมรณรงค์กับผู้ชายเพื่อปรับทัศนคติเรื่องความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศ ปรับพฤติกรรมของผู้ชาย ไม่ใช้ความรุนแรงต่อเด็กสตรี คนในครอบครัว 2. ขอให้มีกิจกรรมรณรงค์สำหรับครอบครัวที่สอดคล้องกับบริบทครอบครัวที่มีความแตกต่างหลากหลายในสังคม และ 3. มีนโยบายให้สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ทำงานกับภาคประชาสังคมมากขึ้น ในการรณรงค์ ลด ละ เลิกเหล้า และอบายมุขทุกชนิด และทำกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงเด็ก และคนในครอบครัว อย่างต่อเนื่อง
ทางด้าน นายไมตรี อินทุสุต ปลัดพม. กล่าวว่า พร้อมรับข้อเสนอไปดำเนินการ ต้องยอมรับว่าปัญหาความรุนแรงในครอบครัวมีรากเหง้ามาจากอบายมุขทั้งสุรา ยาเสพติด อาชญากรรม จนนำไปสู่ความรุนแรงกับคนในครอบครัว คนใกล้ชิด การลดปัญหาต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการสร้างครอบครัวอบอุ่น สร้างชุมชนเข้มแข็ง สร้างสิ่งแวดล้อมยั่งยืน และสร้างบ้านเมืองให้น่าอยู่.
ที่มา หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2558