โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน
หลังจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ออกมาระบุว่า ครูและบุคลากรทางการศึกษามีหนี้ทั้งในระบบประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ที่กู้กับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูและแหล่งกู้อื่น 7 แสนกว่าล้านบาท และหนี้ที่กู้กับธนาคารออมสินผ่านทางโครงการสวัสดิการเงินกู้กองทุนการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) จำนวน 4.7 แสนล้านบาท จำนวนกว่า 6.5 หมื่นคน
ยังไม่นับถึงหนี้นอกระบบซึ่งเป็นตัวเลขที่ยังไม่มีหน่วยงานไหนรวบรวมจากครูประมาณ 4.5 แสนคน ได้อย่างเป็นรูปธรรม ยังไม่มีการจำแนกว่ามีครูผู้สอนจริงๆ เป็นหนี้จำนวนเท่าไร และเป็นบุคลากรทางการศึกษาเท่าไร แต่มีการคาดการณ์กันว่า ทั้งหมดรวมกันจะเป็นตัวเลขที่สูงกว่าครึ่งหนึ่งของงบประมาณแผ่นดินทั้งหมด หรือสูงกว่า 2 ล้านล้านบาท
ทุกครั้งที่มีการพูดถึงปัญหาหนี้ครู สิ่งที่จะได้ยินตามมาก็คือ แนวทางในการแก้ไข แต่แนวคิดมากมายก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้อย่างยั่งยืนได้ เช่น ความพยายามจัดตั้ง “ธนาคารครู” ซึ่งเคยมีการมอบหมายให้ สกสค.รวบรวมข้อมูลเข้าหารือกับกระทรวงการคลัง แต่ก็ยังตั้งไม่ได้ เพราะไม่สามารถแก้โจทย์หลักเรื่องแหล่งเงินที่จะนำมาจัดตั้งให้เพียงพอที่จะให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูกู้ได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าแหล่งเงินอื่นๆ
ส่วนแนวคิดอื่น เช่น นำหนี้สินครูทั้งหมดไปรวมไว้ที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครูแห่งเดียว กำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำกว่าธนาคาร และให้รัฐบาลช่วยอุ้ม โดยงดดอกเบี้ยเงินกู้ครูอย่างน้อย 3-5 ปี โดยมีรัฐบาลค้ำประกัน แต่ก็ไม่สามารถกำหนดเพดานดอกเบี้ยตามเป้าที่ตั้งไว้ได้ เพราะอำนาจการบริหารภายในกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั้ง 76 จังหวัดที่มีสถานะเป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ. 2542 จึงไม่สามารถบังคับได้ ยังไม่รวมถึงปัญหาภายในของ สกสค.เองที่ยังแก้ไม่ตก ธนาคารครูจึงถูกพับเก็บไป
ยังมีแนวคิดอื่นๆ ที่ถูกเสนอเพื่อแก้หนี้ครู เช่น ลดอัตราดอกเบี้ยจาก 6-7% ต่อปี ให้เหลือ 1-2% ต่อปี หรือ 4-5% ต่อปี หรือกรณีเรียกร้องเงินเบี้ยประกันคืนจากสัญญาเงินกู้ระหว่างธนาคารออมสินกับสมาชิกโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค. ปรับโครงสร้างหนี้โดยเฉพาะครูเกษียณ หรืองดเก็บดอกเบี้ยครูที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป ให้ฟื้นกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคง เพื่อใช้หนี้แทนครูที่มีความจำเป็นและชำระหนี้ไม่ได้ ขอคืนเงินเดือนครูครึ่งหนึ่งในโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.
นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดอื่นๆ เช่น ให้พักหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เป็นเวลา 10 ปี โดยไม่ต้องหักผ่านเงินเดือน และให้รัฐบาลออกตราสารหนี้รับซื้อไว้
ปรีชา เมืองพรหม นายกสมาคมพัฒนาครูไทย ระบุว่า ปัญหาหนี้ครูเกิดจากวินัยทางการเงินของครูที่เริ่มเสียมาตั้งแต่การเปิดโอกาสให้ครูหลายๆ คนที่กู้เงินในโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค. โครงการนี้กู้ได้โดยไม่มีการตรวจข้อมูลเครดิตเหมือนสหกรณ์ ทำให้ไม่สามารถทราบได้ว่าครูเป็นหนี้เสียหรือไม่สามารถเห็นภาระหนี้ก่อนกู้ แม้แต่เงินเดือนคงเหลือของผู้กู้เหลือเพียง 15% ของเงินเดือน ก็สามารถกู้ได้ ซึ่งโดยทั่วไปต้อง 30% ขึ้นไป หรือมากกว่านั้น ใช้คนค้ำกู้ได้ถึง 3 ล้านบาท
นอกจากนี้ บางกระแสยังระบุด้วยว่า มีการเรียกเก็บค่าหัวคิวจากการเดินเรื่องให้ครูกู้ได้ง่าย มีการประชาสัมพันธ์ให้ครูกู้หรือกระทั่งสร้างความเชื่อผิดๆ ให้ครูว่า โครงการนี้รับประกันโดย ศธ. แม้ไม่ชำระหนี้เงินกู้ ธนาคารออมสินก็สามารถหักเงินจากกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคง ได้ทำให้ครูส่วนหนึ่งไม่ใช้หนี้ และมักจะแนะนำครูรุ่นน้องให้กู้ในโครงการนี้ เพราะไม่ต้องจ่ายหนี้ จนกลายเป็นการให้คำแนะนำแบบผิดๆ ที่ถูกบอกต่อๆ กันมา
“ต้องตั้งคำถามว่า ทำไมหน่วยงานดูแลสวัสดิการครูไม่ทำเรื่องอื่นๆ ที่ส่งผลต่อสวัสดิการครูจริงๆ แต่อยากให้ครูเป็นหนี้ ไม่เคยสนใจว่าครูแต่ละคนมีหนี้สินเท่าไร เพราะไม่เคยมีการสำรวจมาก่อน ด้วยเวลาเพียง 11 ปี ปัญหาหนี้สินก็ลุกลามจนแก้ปัญหาได้ลำบาก จึงเสนอให้ ศธ.ตั้งกองทุนพัฒนาครูไทย ให้ครูออมเงินเดือนละ 1,500 บาท เนื่องจากมีข้าราชการครูที่ประสบปัญหาหนี้สินเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้หากครู 1 แสนคน สนใจในแนวคิดดังกล่าว จะมีเงินออมเดือนละ 150 ล้านบาท นำเข้ากองทุนไปพัฒนาอาชีพครู คาดว่าภายใน 5 ปี จะลดหนี้ได้ถึง 50%” นายกสมาคมพัฒนาครูไทย กล่าว
วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ระบุว่า แนวคิดในการแก้ปัญหาหนี้ครูด้วยกองทุนหรือการออมเงิน เป็นเรื่องที่ดีสำหรับการแก้ปัญหาในระยะยาว แต่ปัญหาหนี้ครูนั้นมีความหลากหลาย ทั้งกลุ่มที่มีปัญหาหนี้สาหัสเรื้อรัง การออมต่อเดือนที่แม้จะเป็นเงินไม่มากก็เป็นเรื่องที่อาจทำได้ยาก ควรมีการแก้ปัญหาระยะสั้น คือ ขอความร่วมมือจากครูที่มีปัญหาจริงๆ มาให้คำปรึกษาด้านการเงิน
วรากรณ์ แนะนำว่า ควรมีหน่วยงานคำปรึกษา นำหนี้จากแหล่งต่างๆ ที่ครูคนนั้นๆ มีอยู่มาเปรียบเทียบดูว่า ส่วนไหนที่มีดอกเบี้ยสูงก็ใช้วิธีการรีไฟแนนซ์ หรือการที่คุณกู้เงินก้อนใหม่เพื่อไปใช้คืนเงินกู้ก้อนเก่า แล้วเปลี่ยนแบบแผนการดำเนินชีวิต และหน่วยงานด้านสวัสดิการครูต้องช่วยด้านสวัสดิการจริง เลิกยั่วยุให้ครูกู้เงิน ขณะที่ครูต้องให้ความร่วมมือ ให้ข้อมูลข้อเท็จจริงเรื่องหนี้สินที่เป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหามากกว่าที่เป็นอยู่
ที่มา หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 27 พฤศจิกายน 2558