พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยพลเอกสุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันพุธที่ 25 พฤศจิกายน 2558 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ
เรื่องที่ รมว.ศึกษาธิการ สั่งการในที่ประชุม
- สายสะพายของรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รับทราบปัญหาเป็นอย่างดีว่า ในขณะที่ผู้บริหารกลุ่มอื่น รวมทั้งผู้อำนวยการโรงเรียนได้รับสายสะพาย แต่กลุ่มรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชาที่สูงกว่ายังไม่ได้รับตามสิทธิ์ที่พึงได้รับ จึงยืนยันว่าจะไม่หยุดดำเนินการในเรื่องนี้อย่างแน่นอน
- การปรับปรุงบ้านพักครูที่เสื่อมโทรม ต้องการช่วยเหลือครูซึ่งพักอาศัยในบ้านพักครูที่อยู่ในเขตพื้นที่ทุรกันดารก่อนเป็นลำดับแรก รวมทั้งบ้านพักครูที่ซอมซ่อ หรือไม่มีห้องน้ำภายใน หรือไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ ขอให้หน่วยงานต้นสังกัดพิจารณาตั้งงบประมาณในปีนี้ หากไม่พอขอให้ตั้งงบประมาณในปีงบประมาณถัดไป โดยจะมีการให้นโยบายและแนวทางการดำเนินงานในเรื่องนี้อีกครั้ง
- การพัฒนาปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการชี้แจงว่าจะได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาขับเคลื่อนรวม 3 คณะ คือ ในส่วนของ input ซึ่งจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายนอกกระทรวงศึกษาธิการเข้ามาเป็นคณะกรรมการ, ส่วนของการกลั่นกรอง และส่วนของการจัดทำหลักสูตรใหม่ และจะแก้ไขให้สามารถปรับปรุงหลักสูตรได้ทุก 3 ปี จากเดิมให้แก้ไขปรับปรุงทุก 10 ปี ซึ่งเป็นเวลาที่ยาวนานเกินไป ทั้งนี้จะเสนอให้ใช้มาตรา 44 เพื่อตั้ง "กรมวิชาการ" เพื่อให้เป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการปรับปรุงหลักสูตร สื่อ ตำราเรียน และจัดระบบการทดสอบ ที่จะต้องสอดคล้องเชื่อมโยงกันทุกระดับและทุกประเภทการศึกษา
- การจัดจ้างให้เอกชนผู้รับจัดงาน (Organizer) งานโฆษณาและงานประชาสัมพันธ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ชี้แจงว่าจากการที่มีข่าวการจัดจ้างให้เอกชนผู้รับจัดงาน (Organizer) งานโฆษณาและงานประชาสัมพันธ์ของบางหน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการด้วยงบประมาณที่สูงเกินความจำเป็น จึงได้มีหนังสือแจ้งเวียนให้ทุกหน่วยงานรายงานข้อเท็จจริงในเรื่องนี้กลับเข้ามาแล้ว เพราะเรื่องนี้ถือเป็นนโยบายสำคัญของ รมว.ศึกษาธิการ ที่ได้ประกาศไว้แล้วว่าจะไม่ให้มีการทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้นในกระทรวง ซึ่งวิธีการที่ดีที่สุดคือการเปิดเผยข้อมูล เพราะถือเป็นประเด็นที่สาธารณชนควรรับทราบข้อเท็จจริงต่างๆ ด้วย
เรื่องที่นายกรัฐมนตรีสั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
- การจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอให้ทุกหน่วยงานจัดกิจกรรมที่เน้นสื่อสารให้ประชาชนเห็นถึงพระราชกรณียกิจของพระองค์ที่มีต่อปวงชนชาวไทย โดยแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาและการเชื่อมโยงการทำงานในด้านต่างๆ อย่างชัดเจน เช่น การต่อสู้กับความยากจน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โครงการในพระราชดำริ ฯลฯ
- การบ้าน ซึ่งยังไม่ได้รายงานให้นายกรัฐมนตรีรับทราบในเวลานี้ 2 เรื่อง คือ การศึกษารูปแบบการจัดการศึกษาของต่างประเทศ เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับรูปแบบการศึกษาและหลักสูตรของไทยที่จะเดินต่อไป เช่น ฟินแลนด์จะมีจุดเด่นในการอบรมพัฒนาครูผู้สอนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน, สาธารณรัฐเกาหลีและสิงคโปร์ที่มีจุดเด่นในการพัฒนาด้านอาชีวศึกษา หรือรูปแบบการจัดการอุดมศึกษาของสิงคโปร์ เป็นต้น และการจัดทำตารางสามช่อง โดยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในเดือนธันวาคม 2558 เพื่อรายงานต่อนายกรัฐมนตรีรับทราบต่อไป
- ไข้เลือดออก ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการป้องกันและกำจัดยุงลาย อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการก็มีหน่วยงานที่ให้ความรู้แก่นักเรียนและผู้ปกครองอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดอยู่แล้ว เช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จึงย้ำเตือนว่าอย่าประมาทในเรื่องนี้ ควรมีมาตรการในการกำจัดและป้องกันอย่างต่อเนื่องต่อไป
- การแก้ปัญหาทะเลาะวิวาทของนักเรียนนักศึกษาอาชีวศึกษา เป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง โดยจะหารือร่วมกับกระทรวงยุติธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันของทุกหน่วยงาน พร้อมทั้งกำชับให้ผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวะทุกแห่งมีมาตรการเข้มงวดในการตรวจค้นอาวุธของนักเรียนนักศึกษา นอกจากนี้ได้ให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ไปศึกษาเปรียบเทียบสถานศึกษาอาชีวะที่เคยก่อเหตุทะเลาะวิวาท แต่ได้ดำเนินการตามมาตรการต่างๆ จนมีสถิติลดลง กับสถานศึกษาที่มีตัวเลขไม่ลดลง เพื่อให้ได้รับทราบข้อมูล และนำไปใช้ทบทวนมาตรการต่างๆ ต่อไป
- สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จะเน้นการปฏิรูปการศึกษาใน 2 ประเด็นสำคัญ คือ โครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ และครูผู้สอน โดย สปท.จะได้มาหารือในเรื่องนี้กับผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ในวันพฤหัสบดีที่ 3 ธันวาคม 2558 เวลา 10.00-12.00 น.
- กองทุนต่างๆ ของกระทรวงศึกษาธิการ โดยมอบให้ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ไปรวบรวมว่ากองทุนต่างๆ ทั้งหมดของกระทรวงศึกษาธิการมีเท่าใด และสถานภาพของแต่ละกองทุนเป็นอย่างไร มีความจำเป็นต้องคงอยู่หรือยุบกองทุนนั้นๆ ต่อไปหรือไม่ โดยให้แต่ละองค์กรหลักรวบรวมนำเสนอปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อจะได้นำไปบริหารกองทุนให้มีประสิทธิภาพ ปรับปรุงกระบวนการ อุดช่องว่างต่างๆ ให้ได้ ส่วนกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งกระทรวงการคลังรับผิดชอบ ทราบว่าขณะนี้มีปัญหาการติดตามหนี้ผู้กู้ยืมรายเก่าที่ไม่ชำระ ซึ่งจะมีมาตรการต่างๆ ต่อไป รวมทั้งหลักเกณฑ์การปล่อยกู้ที่จะคำนึงถึงสาขาวิชาที่ขาดแคลนหรือตรงตามความต้องการของประเทศ
- ความร่วมมือกับคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ฝากให้แต่ละองค์กรหลักได้แจ้งให้หน่วยงานในสังกัดให้ความร่วมมือชี้แจงข้อเท็จจริงต่างๆ ต่อคณะอนุกรรมการ คตร. ประจำกลุ่มกระทรวงด้านสังคมจิตวิทยา ซึ่งรับผิดชอบในการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงสาธารณสุข โดยมีพลโทไชยพร รัตแพทย์ เป็นประธาน โดยจะเข้ามาติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐของกระทรวงศึกษาธิการให้เป็นไปด้วยความโปร่งใสและถูกต้องภายใต้กรอบงบประมาณของรัฐ และเป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนด รวมทั้งติดตามและตรวจสอบข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง
- หนี้สินครู กระทรวงศึกษาธิการไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ ยังคงดำเนินการแก้ไขปัญหานี้ให้ต่อไป
ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 25 พฤศจิกายน 2558