ภตช.แฉโรงเรียนซิกแซกได้งบฯกระตุ้นเศรษฐกิจซ่อมแซมโรงเรียน แต่ไม่ซ่อมซื้อบิลเปล่าเบิกเงินไปใช้อย่างอื่น จี้ สพฐ.เร่งตรวจสอบ ด้าน"การุณ"ส่งหนังสือกำชับเขตพื้นที่ฯตรวจสอบ
วันนี้( 25พ.ย.) นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ เลขาธิการภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของชาติ(ภตช.) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ต้องการให้เกิดการจ้างงาน และส่งเสริมให้มีการลงทุนทั้งในส่วนกลางและต่างจังหวัดโดยให้ส่วนราชการ จัดทำคำขอรับการจัดสรรงบประมาณ นั้น ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ได้มีการเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณ พ.ศ.2558งบลงทุนรายการค่าที่ดิน สิ่งก่อสร้างตามมาตรการกระตุ้นการลงทุนดังกล่าวในโรงเรียนในสังกัดกว่า30,000โรงทั่วประเทศเป็นเงินงบประมาณกว่า3,000ล้าน บาท เพื่อใช้ในการปรับปรุงซ่อมแซมห้องเรียน ห้องเรียนพิเศษ อาคารเรียน อาคารประกอบ สภาพแวดล้อมและบรรยากาศภายในโรงเรียน บ้านพักครู หรือซ่อมแซมรั้ว โดยมีกรอบวงเงินต่อโรงเรียนตั้งแต่100,000ถึง300,000บาทขึ้นอยู่กับขนาดโรงเรียนซึ่ง วงเงินงบฯดังกล่าวได้ถูกจัดสรรไปยังโรงเรียนเรียบร้อยแล้ว แต่ในทางปฏิบัติ ภตช.ได้รับการร้องเรียนว่า โรงเรียนในบางพื้นที่ไม่ได้ดำเนินการตามมาตรการและมีพฤติกรรมในการเบิกจ่าย เงินที่ไม่ถูกต้อง
“พฤติกรรมที่บอกว่าไม่ถูกต้อง คือ โรงเรียนให้บริษัทหรือร้านค้าออกบิลมาให้เพื่อนำไปเบิกเงินแล้วจ่ายเงินให้บริษัทหรือร้านค้าประมาณ10%เป็น การอาศัยบริษัทหรือร้านค้าเบิกเงินหลวงไปใช้โดยไม่มีได้มีการซ่อมแซมอะไรเลย ขณะที่บางโรงเรียนก็ใช้ในการซ่อมแซมประมาณครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งก็อม เพราะฉะนั้นที่รัฐบาลต้องการให้เกิดการจ้างงานหรือกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ ก็ไม่ได้เกิดขึ้นจริง ซึ่งผอ.เขตพื้นที่ก็ไม่สามารถลงไปควบคุมได้ เพราะนโยบายคือกระจายอำนาจให้โรงเรียนจัดการเอง โครงการนี้จึงเปรียบเหมือนการมอบเหยื่ออันโอชะให้โรงเรียน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้นเลย” นายมงคลกิตติ์ กล่าวและว่า ภตช.ขอเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการ และ สพฐ.ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเรื่องที่เกิดขึ้น เพื่อให้การใช้เงินงบประมาณเป็นไปตามวัตถุประสงค์อย่างแท้จริง
Advertisement
เลขาธิการ ภตช.กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีการร้องเรียนกรณีการจัดซื้อครุภัณฑ์ของโรงเรียนสังกัด สพฐ.วงเงินกว่า1,200ล้าน บาท ที่มีการจัดซื้อครุภัณฑ์ด้อยคุณภาพ โดยร้านค้าจะวิ่งเข้าไปตามโรงเรียนแล้วมีการตกลงราคา ซึ่งจะมีการหักให้ทางโรงเรียนหรือผู้บริหารประมาณ30-35%ก่อน ออกใบสั่งจ้าง จึงทำให้ร้านค้าจัดส่งสินค้าคุณภาพต่ำหรือของเลียนแบบให้แก่ทางโรงเรียน ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวถือเป็นการท้าทายนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมาก ถึงแม้จะเป็นร้านค้าในพื้นที่และเปิดให้มีการแข่งขัน แต่ไม่ได้วัดกันที่คุณภาพของครุภัณฑ์ แต่วัดที่เปอร์เซ็นต์มากกว่า ทั้งนี้พฤติกรรมที่เกิดขึ้นขณะนี้พบแล้วใน5-7จังหวัดทางภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ
ด้านนายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ตนได้รับข้อมูลดังกล่าวแล้ว และได้มีหนังสือกำชับไปยังเขตพื้นที่การศึกษา ให้ตรวจสอบและดูแลให้โรงเรียนดำเนินการให้ถูกต้องด้วย.
ที่มา หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 25 พฤศจิกายน 2558