“ธีระเกียรติ”ให้การบ้าน ทปอ.มรภ.พัฒนาข้อสอบบรรจุครูผู้ช่วย สพฐ.เป็นข้อสอบเดียวกันทั้งประเทศ เก็บผลคะแนนไว้ใช้ได้ 2 ปี พร้อมให้ศูนย์ภาษาของ มรภ.ทำหน้าที่ทดสอบทักษะด้านการพูดและเขียนภาษาอังกฤษของประชาชน
จากการที่ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) เข้ารับนโยบายจาก พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ และ นพ.ธีระกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมช.ศึกษาธิการ เมื่อเร็ว ๆ นี้ รศ.ดร.สมบัติ คชสิทธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ฐานะประธาน ทปอ.มรภ.กล่าวว่า พล.อ.ดาว์พงษ์ได้รับฟังปัญหาและข้อคิดเห็นจากทางมรภ.เป็นอย่างดี และมอบหมายให้ มรภ.นำกระแสพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวลงสู่การปฏิบัติไปสอนนักศึกษาด้วย ขณะที่ นพ.ธีระเกียรติได้มอบหมายให้มรภ.ไปประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมการจัดทำข้อสอบมาตรฐานกลางสำหรับการจัดสอบครูผู้ช่วยของสำนักงาน คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) เพื่อให้การสอบบรรจุครูผู้ช่วยมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเป็นที่ยอมรับ ไม่เป็นปัญหาเหมือนที่ผ่านมา ดังนั้นข้อสอบต้องเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ ซึ่งทปอ.มรภ.จะไปหารือร่วมกันอีกครั้ง รวมถึงหารือกับผู้บริหาร สพฐ. เขตพื้นที่การศึกษา และสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(สทศ.)ด้วย
“หลักการเบื้องต้น คือ มรภ.จะเป็นหน่วยงานจัดทำข้อสอบที่เป็นมาตรฐานกลาง เนื่องจากที่ผ่านมาในการเปิดสอบบรรจุครูผู้ช่วยหลายเขตพื้นที่ก็ใช้บริการ มรภ.ในการจัดทำข้อสอบอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเรื่องการออกข้อสอบจึงไม่น่าจะมีปัญหา ส่วนการจัดสอบก็ให้มีหน่วยงานกลางเป็นผู้จัด ซึ่งก็คือ สทศ. เพราะเป็นหน่วยงานที่มีระบบการรักษาความปลอดภัยที่ได้มาตรฐาน สำหรับผลคะแนนก็สามารถเก็บไว้ได้ 2 ปีเหมือนคะแนนการทดสอบภาษาอังกฤษโทเฟล โดยผู้เข้าสอบสามารถนำคะแนนไปใช้ยื่นเพื่อบรรจุแต่งตั้งเป็นครูผู้ช่วยในเขตพื้นที่การศึกษาใดก็ได้ทั่วประเทศเมื่อมีอัตราว่าง” ประธาน ทปอ.กล่าว
Advertisement
รศ.ดร.สมบัติ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้เนื่องจากรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายส่งเสริมและพัฒนาการ ใช้ภาษาอังกฤษสำหรับผู้เรียนทุกระดับรวมถึงประชาชนทั่วไป และปัจจุบัน มรภ.ทุกแห่งก็มีศูนย์ภาษาที่ให้บริการจัดอบรมความรู้ภาษาอังกฤษให้แก่ครู นักเรียน นักศึกษา และประชาชนอยู่แล้ว ดังนั้น นพ.ธีระเกียรติ ยังมอบหมายให้ศูนย์ภาษาของ มรภ.เพิ่มภารกิจในการเป็นหน่วยวัดทักษะความรู้ภาษาอังกฤษด้านการพูดและเขียน ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่ายแต่มีมาตรฐาน โดยใช้กรอบมาตรฐานการประเมินความสามารถทางภาษา จากประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป หรือ CEFR (Common European Framework of Reference for Languages)เป็นกรอบในการประเมิน
อ่านต่อที่ : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 24 พฤศจิกายน 2558