รมว.ศึกษาธิการ พอใจโครงการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ 75 % ส่วนที่เหลือต้องเร่งเติมเต็ม แนะครูต้องปรับตัวรับนโยบายใหม่ อย่ายึดติดกับความคิดเก่าๆ จะทำให้เด็กคิด วิเคราะห์ไม่เป็น
วันนี้ (24 พ.ย.) ที่โรงแรมเอเชีย ราชเทวี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการรับฟังรายงานผลการติดตามการดำเนินโครงการ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” เพื่อติดตามความก้าวหน้าของ SmartTrainer ที่เป็นศึกษานิเทศก์จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 225 เขต ว่า โครงการดังกล่าวเดินหน้ามาได้ 3 สัปดาห์แล้ว ซึ่งพบว่าเด็กเรียนอย่างมีความสุข และผู้ปกครองก็มีความสุขเช่นกัน ซึ่งตนมีความพึงพอใจ 75% ส่วนอีก25% ที่เหลือยังต้องเติมเต็มในส่วนที่เป็นปัญหาอุปสรรค เพื่อให้โครงการมีความสมบูรณ์ โดยพบว่าบางโรงเรียนมีการจัดกิจกรรมนอกโรงเรียน ซึ่งตนกำชับว่าการพาเด็กไปเรียนรู้นอกโรงเรียน จะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยด้วย ส่วนโรงเรียนขนาดเล็ก ที่มีอุปสรรคในการจัดกิจกรรม ก็ต้องไปทบทวนว่าเราจะเสริมและเติมเต็มในจุดไหนได้บ้าง ส่วนประเด็นที่ครูมีความกังวลเรื่องภาระงานจะเพิ่มขึ้นนั้น ขอให้ครูอดทนในช่วงของการเปลี่ยนผ่านเรื่องนี้ให้ได้ เพราะหากครูยังยึดติดกับความคิดแบบเก่าๆ เด็กก็จะไม่รู้จักการคิดวิเคราะห์อย่างแน่นอนทั้งนี้ ตนจะเรียกประชุมทีม Smart Trainer ทุกๆเดือน เพื่อสรุปภาพรวมการทำงานทั้งหมดในการขยายผลโครงการดังกล่าวให้ครอบคลุมโรงเรียนทั่วประเทศ ในปี 2559
Advertisement
นายจิรวัฒน์ รักพ่วง ทีม Smart Trainer กลุ่มประถมศึกษา จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ตาก เขต 1 กล่าวว่า กลุ่มโรงเรียนประถมศึกษา สพป.ชัยภูมิ เขต 1 มีความพร้อมในการจัดกิจกรรมตามโครงสร้างหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานซึ่งโรงเรียนในพื้นที่มีทั้งโรงเรียนขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก โดยกลุ่มโรงเรียนขนาดกลางและขนาดเล็ก จัดการเรียนการสอนด้วยระบบการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม และเริ่มกิจกรรมลดเวลาเรียนได้ตามนโยบาย คือ ช่วงเวลา 14.00 น. ขณะที่โรงเรียนขนาดใหญ่มีข้อจำกัดในเรื่องเวลา จึงต้องลดทอนเวลาลง โดยเริ่มกิจกรรมลดเวลาเรียนในเวลา 14.40– 15.30 น.สำหรับกิจกรรมที่โรงเรียนแต่ละแห่งจัดขึ้นนั้น ก็มีความยืดหยุ่นตามบริบทของแต่ละพื้นที่ มีการปรับกิจกรรมให้เกิดการบูรณการตามเป้าหมาย นอกจากนี้โรงเรียนบางแห่งยังจัดกิจกรรมภายนอกโรงเรียนด้วย เช่น การพาเด็กไปศึกษาความรู้ตามสถานที่ราชการ เป็นต้น สำหรับความพร้อมในการจัดกิจกรรมโรงเรียนขนาดเล็ก ยังมีข้อจำกัดเรื่องจำนวนครู อุปกรณ์การเรียนการ ซึ่งทำให้ต้องขมวดการจัดกิจกรรมไว้ในหมวดเดียวกันส่วนโรงเรียนขนาดใหญ่ และขนาดกลาง มีความพร้อมในการจัดกิจกรรมค่อนข้างสูง เด็กสามารถเลือกกิจกรรมได้ตามความถนัดของตนเอง ทั้งนี้ ภาพรวมของการเดินหน้ากิจกรรมนี้ช่วงแรกครูมีความสุขในการทำงาน แต่เมื่อโครงการเดินหน้ามาได้สักระยะหนึ่งก็เกิดความกังวลในภาระงานที่เพิ่มขึ้น ส่วนผู้ปกครองมีความสุข แต่เกิดความกังวลว่าเมื่อเรียนวิชาหลักน้อยลง บุตร หลาน ของตนเอง จะมีความรู้มากพอที่จะไปสอบแข่งขันหรือไม่.
อ่านต่อที่ : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 24 พฤศจิกายน 2558