"ชีพจรครู" ฉบับนี้ มีความคืบหน้าการจัดทำหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีวิทยฐานะ หรือเลื่อนเป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษและวิทยฐานะเชี่ยวชาญ ตามข้อตกลงในการพัฒนางาน หรือ Performance Agreement (PA) มาบอกเล่าให้เพื่อนครูได้รับรู้และ เตรียมพร้อม
โดยล่าสุด นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ออกมาเปิดเผยว่า ต่อไปการทำเอกสารรวบรวมผลงานครู หรือ PA เพื่อขอวิทยฐานะ ควรให้ครูทำเป็นกิจวัตรตั้งแต่เริ่มเป็นครู ไม่ใช่ทำเฉพาะเข้าสู่วิทยฐานะเท่านั้น ซึ่งครูที่จะขอวิทยฐานะขั้นต้นคือชำนาญการ จะมีเวลารวบรวมผลงานถึง 8 ปี โดยภายใน 8 ปีนั้น หากสามารถสร้างผลงานเชิงประจักษ์ก็สามารถยื่นขอวิทยฐานะได้ทันที ยกตัวอย่าง หากจะใช้ผลคะแนนทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ในการยื่นเข้าสู่วิทยฐานะ เด็กที่ครูคนนั้นๆ สอนต้องได้คะแนนโอเน็ตอยู่ในค่าเฉลี่ย (Mean) และหากจะขอระดับชำนาญการพิเศษ ผลคะแนนโอเน็ตต้องสูงกว่าค่าเฉลี่ย ถ้าเป็นวิทยฐานะเชี่ยวชาญจะต้องมีผลงานเชิงประจักษ์ชัดเจนที่ชี้ให้เห็นว่าเด็กมีคุณภาพที่ดี และถ้าเป็นวิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษ ซึ่งเป็นวิทยฐานะสูงสุด ต้องมีผลงานที่เป็นนวัตกรรมหรืองานวิจัยใหม่ๆ ด้วย
โดยการปรับเกณฑ์ PA รูปแบบใหม่นี้ ทำให้ครูไม่ต้องทำเอกสารจำนวนมากเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการลดภาระให้ครูทำรายงานเพียงปีละ 2-3 หน้า ข้อดีคือไม่รบกวนเวลาที่ครูจะจัดการเรียนการสอน ทำให้ครูไม่ต้องทิ้งห้องเรียน ไม่ต้องทิ้งเด็ก และยังทำให้ครูสามารถวางแผนการสอนและทำงานได้ตลอดทั้งปี ทั้งนี้ในการเสนอขอวิทยฐานะแนวใหม่ ไม่จำเป็นที่ครูจะต้องเสนอขอด้วยตนเอง อาจจะมีบุคคลอื่น เช่น ผู้บังคับบัญชา นักเรียนเห็นผลงานและเสนอชื่อให้ก็ได้ ซึ่งหากคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ให้ความเห็นชอบตามแนวทางดังกล่าว ก็อาจจะยกเลิกหลักเกณฑ์การขอมีวิทยฐานะอื่นๆ ทั้งหมดให้เหลือเพียงแนวทางเดียว!!!
แต่ก็ยังต้องรอลุ้นอีกทีเพราะยังมีเสียงคัดค้านจากผู้เกี่ยวข้อง โดย นายสุรวาท ทองบุ คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) มหาสารคาม ในฐานะประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) มองว่าแนวทางนี้ยังไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร เพราะยังกังวลว่าหากดูเฉพาะเอกสาร เมื่อถึงกำหนดเวลาก็จะมีปัญหาทิ้งห้องเรียน การจ้างทำผลงานทางวิชาการอย่างที่เกิดขึ้น และหากจะให้นำคะแนนโอเน็ตของเด็กมายื่นขอวิทยฐานะครู ก็ไม่ถูกต้อง เพราะเด็กแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน
อีกเรื่องที่ต้องจับตาสำหรับเพื่อนครู คือการขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูที่จะมีการปรับลดให้เหลือ 3 ประเภท คือ ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ใบอนุญาตปฏิบัติการสอน และหนังสืออนุญาตให้ประกอบวิชาชีพโดยไม่มีใบอนุญาตฯ โดยคณะกรรมการคุรุสภาจะหารือเรื่อง ดังกล่าวในวันที่ 27 พฤศจิกายนนี้
ทั้ง 2 เรื่องยังไม่ถือว่าเป็นข้อสรุปและคงต้องจับตากันให้ดี เพราะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของวิชาชีพครูอีก ครั้งหนึ่ง
ที่มา มติชน ฉบับวันที่ 25 พ.ย. 2558 (กรอบบ่าย)
หมายเหตุ ล่าสุด 24 พ.ย.2558 ผศ.ดร.สุรวาท ทองบุ ได้เปิดเผยกับเว็บไซต์ครูบ้านนอกดอทคอมว่า ตนไม่ได้คัดค้านในทั้งหมด จึงขอเพิ่มเติมข้อมูล จากที่สำนักข่าวได้เสนอไป ดังนี้
- เสนอให้ประเมินเป็นปี ๆ ไป ไม่ใช่ 8 ปีครั้งหนึ่ง ขึ้นวิทยฐานะทีละนิดทุกปีไป ประเมินบนฐานการช่วยเหลือและพัฒนา
- ไม่ควรใช้ O-net มาตัดสินครู ควรใช้พัฒนาการ (ความก้าวหน้า) ของผลสัมฤทธิ์ (คุณภาพ) ทุกด้านของผู้เรียน