จริงหรือที่คนมีสมองขนาดใหญ่ฉลาดมากกว่าคนที่มีสมองขนาดเล็ก ? เมื่อเลยวัยเด็กไปแล้วสมองจะหยุดการพัฒนา ?
หาคำตอบกันได้ที่นี่เลยครับ
Neuromyth "ความเชื่อผิดๆ ว่าด้วยเรื่องสมอง"
โดย ดร.วีระพงษ์ ประสงค์จีน
สมองเป็นอวัยวะที่สำคัญของระบบประสาท ที่ช่วยควบคุมการทำงานของอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย การเรียนรู้ก็เกิดจากการทำหน้าที่ของสมอง ดังนั้น เรื่องสมองจึงเป็นเรื่องที่ทุกคนให้ความสำคัญ โดยเฉพาะในแวดวงการศึกษา แต่อย่างไรก็ตาม มีการนำผลสรุปงานวิจัยทางประสาทวิทยาศาสตร์ที่ยังไม่สมบูรณ์ข้อมูลหลายส่วนถูกบิดเบือน และข้อมูลบางอย่างก็ไม่เคยมีการทดลองทางวิทยาศาสตร์ใด ๆ แต่ก็มีการนำไปใช้ในห้องเรียน จัดถ่ายทอดอบรมชุดความรู้ และเผยแพร่ทางสื่อสารมวลชน ทำให้เกิดเรื่องราวตำนานของสมองกับการเรียนรู้ที่ไม่ใช่เรื่องจริง (neuromyth) เผยแพร่ออกไปในวงกว้าง มาดูกันครับว่ามีอะไรบ้าง
• สมองมีความยืดหยุ่นสำหรับการรับข้อมูลบางชนิดในช่วงเวลาวิกฤตเท่านั้น ดังนั้น ช่วงชีวิต 3 ปีแรก จะเป็นตัวบ่งชี้การพัฒนาในขั้นต่อไป และเป็นตัวตัดสินความสำเร็จในชีวิต เมื่อผ่านช่วงเวลานี้ไปแล้ว บางสิ่งบางอย่างจะไม่สามารถเรียนรู้ได้อีก
• เด็กเล็กจะต้องมีการกระตุ้นระบบประสาทสัมผัส(sensory stimulation) เยอะ ๆ และเพลงคลาสสิค(classical music) เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก สำหรับพัฒนาการสมองของเด็ก ทำให้เด็กฉลาดขึ้น
• เราใช้งานสมองเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น
• ฉันเป็นพวกสมองซีกซ้าย เธอเป็นพวกสมองซีกขวา
• เมื่อเลยวัยเด็กไปแล้วสมองจะหยุดการพัฒนา
• สมองไม่สามารถสร้างเซลล์ประสาทขึ้นมาใหม่ได้อีก
• การเพิ่มพูนสิ่งแวดล้อม (enriched environments)เช่น การสร้างสภาพห้องเรียน การเพิ่มสีสรรสิ่งของ หรือการมีเครื่องเล่นรูปแบบต่าง ๆ ช่วยเพิ่มความสามารถของสมองในการเรียนรู้ การเพิ่มพูนปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่มีตัวกระตุ้นจำนวนมากเหล่านี้ ช่วยพัฒนาสมองในเด็กเล็ก
• การเรียนรู้สองภาษาพร้อมกัน จะแข่งขันการใช้ทรัพยากรของสมอง ดังนั้น เด็กจะต้องเรียนรู้การใช้ภาษาแม่ให้ได้ก่อน จึงจะสามารถเรียนรู้ภาษาที่สองได้ หากไม่เป็นลำดับเช่นนี้ เด็กก็จะไม่สามารถเรียนรู้ได้ทั้งสองภาษา
• คนเราจะเรียนรู้ได้ดีขึ้น เมื่อได้รับข้อมูลในรูปแบบการเรียนรู้ที่เขาพึงพอใจ เช่น ชอบฟัง ชอบดู ชอบเคลื่อนไหว
• การได้ออกกำลังกายประสานการทำงานของกล้ามเนื้อ ที่ช่วยกระตุ้นระบบสั่งการและการรับรู้ จะช่วยเพิ่มการประสานการทำงานกันของสมองทั้งสองซีก และช่วยพัฒนาการออกออกเขียนได้
• เด็กจะมีความใส่ใจลดลง ภายหลังการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล หรือของว่าง
• การบริโภคกรดไขมันโอเมก้า 3 และโอเมก้า 6 ทำให้เด็กประสบความสำเร็จด้านวิชาการ
• ถ้าเด็กนักเรียนไม่ดื่มน้ำให้เพียงพอ จำนวน 6-8 แก้วต่อวัน จะทำให้สมองหดตัวลงได้
• คนที่มีสมองขนาดใหญ่ ฉลาดมากกว่าคนที่สมองขนาดเล็ก
ถ้ามีข้อหนึ่งข้อใดที่คุณรู้สึกคุ้น ๆ ว่า เคยได้ยินได้ฟัง และคุณก็เชื่อสนิทใจว่า มันเป็นอย่างนี้จริงๆ มันคือneuromyth ครับ แต่อย่าเพิ่งเชื่อสิ่งที่ผมเขียนมาทั้งหมดนี้ คุณอาจจะต้องสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมอีกนะครับ เนื่องจากเกิดความคาดหวังที่จะประยุกต์งานวิจัยสมองไปใช้ในการเรียนการสอน neuromyth จึงเกิดการก่อตัวอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มพูนสิ่งแวดล้อม ความโดดเด่นของสมองซีกซ้าย หรือสมองซีกขวา และเรื่องช่วงเวลาวิกฤติ (เวลาทอง) แห่งการเรียนรู้ เมื่อแนวคิดเหล่านี้มีการอภิปรายกันในวารสารวิชาการ หรือสื่อสิ่งพิมพ์ ที่เป็นที่นิยม ผู้ปกครอง นักการศึกษา และนักกำหนดนโยบายบางส่วน มักจะเกิดปัญหาเข้าใจไม่กระจ่างถึงหลักฐานทางวิชาการ จึงอาจจะเร่งรีบแนะนำข้อกำหนด คำแนะนำต่าง ๆ เพื่อให้ใช้ปฏิบัติงานจริง (put into practice) ซึ่งอาจจะนำมาซึ่งปัญหาในภายหลังได้
เรื่องความเชื่อ neuromyth นี้ เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกมาเป็นเวลาสิบกว่าปีแล้ว นับเป็นประเด็นที่สำคัญมากจนหน่วยงานระดับโลกอย่าง OECD ที่ทำงานร่วมกับรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ต้องจัดตั้งโครงการ OECD Brain and Learning Projectเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ส่งเสริมการเรียนรู้ และการสอนที่อยู่บนหลักฐานทางวิชาการที่น่าเชื่อถือ หากท่านผู้อ่านสนใจเรื่องราวของ neuromyth เพิ่มเติม ติดตามอ่านได้จากแหล่งอ้างอิงด้านล่างนี้ โชคดีครับ
แหล่งอ้างอิง
1. The Centre for Educational Research and Innovation (CERI), Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD), Neuromyths, http: www.oecd.org/edu/ceri/neuromyths.htm
2. Learning Seen from a Neuroscientific Approach, Neuromythologies, http: www.oecd.org/edu/ceri/31706603.pdf
3. Sanne Dekker, Nikki C. Lee, Paul Howard-Jonesand Jelle Jolles, Neuromyths in education: Prevalence and predictors of misconceptions among teachers, Front. Psychol., 2012
http: dx.doi.org/10.3389/fpsyg.2012.00429
4. Society for Neuroscience, Neuromyths, http: www.brainfacts.org/neuromyths/
ขอบคุณที่มาบทความของ ดร.วีระพงษ์ ประสงค์จีน จาก นิวส์ คอนเน็ก วันที่ 19 พฤศจิกายน 2558