ออมสินเลิกจ้าง สกสค.ทวงหนี้ เอาเงินค่าจ้างมาลดดอกเบี้ยคนดี ส่งฟ้องคนเบี้ยวหนี้
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารกำลังหาวิธีการแก้ไขปัญหาหนี้เสียครู ที่เริ่มเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) มากขึ้นเรื่อยๆ โดยได้มีมติให้เลิกจ้างคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ในการติดตามทวงหนี้แทนธนาคารออมสิน เพราะเห็นว่าการติดตามทวงหนี้เริ่มไม่มีประสิทธิภาพแล้ว
แหล่งข่าวเปิดเผยอีกว่า ทางฝ่ายจัดการได้เสนอว่า หลังจากเลิกจ้าง สกสค.แล้ว จะมีการนำเอาเงินค่าจ้าง 1% ที่จ่ายให้ สกสค.ปีละเป็นร้อยล้านบาท กลับมาสร้างแรงจูงใจให้ลูกหนี้กลุ่มครูชำระหนี้ โดยหากครูคนไหนชำระหนี้ได้ตรงเวลา จะมีส่วนลดดอกเบี้ยให้ในงวดต่อไป ส่วนครูที่ไม่ชำระหนี้ หากเป็นเพราะมีเจตนาจะไม่ชำระหนี้ ทั้งที่มีความสามารถในการชำระหนี้ได้ จะต้องส่งฟ้องเหมือนสินเชื่อบุคคลทั่วไป
"ที่ผ่านมา ธนาคารไม่เคยแยกลูกค้าดีและไม่ดี เพราะให้ สกสค.เป็นผู้บริหารติดตามหนี้ให้ ทำให้ไม่รู้จักลูกค้าและไม่รู้ว่าส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการชำระหนี้อย่างไร แต่สิ่งที่ถูกต้อง คือต้องมีการให้รางวัลคนทำดีเพื่อเป็นแรงจูงใจให้ชำระหนี้" แหล่งข่าวเปิดเผย
แหล่งข่าวเปิดเผยต่อไปว่า การปรับแผนแก้ไขปัญหาหนี้ครูเพื่อรองรับการเข้ามาตรวจสอบธนาคารเฉพาะกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตามคำสั่งของคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด เพราะมั่นใจว่าธนาคารจะถูกสั่งการให้แก้ไขเรื่องนี้เป็นการด่วน
Advertisement
อย่างไรก็ดี ธนาคารอยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ, สกสค., สหกรณ์, ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง ว่ามาตรการที่จะออกนี้จะส่งผลกระทบกับผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างไร โดยเฉพาะกับครู และผลกระทบต่อธนาคาร
ทั้งนี้ ธนาคารปล่อยสินเชื่อครูในวงเงินกว่า 5 แสนล้านบาท และจากภาวะเศรษฐกิจส่งผลให้ครูมีความสามารถในการชำระหนี้ลดลง และประเมินว่า หากไม่เร่งดำเนินการใดๆ ยอดหนี้เสียครูอาจเพิ่มได้ถึง 8,000 ล้านบาท ภายในเดือน พ.ย.นี้ และอาจเพิ่มอีก 1.5 หมื่นล้านบาท ในเดือน ธ.ค. 2558 หากหนี้เสียเพิ่มสูงขึ้นจะทำให้ธนาคารต้องตั้งสำรองหนี้เพิ่ม และจะกระทบต่อกำไรทั้งปีของธนาคาร โดยขณะนี้มีกำไรสุทธิ 1.8 หมื่นล้านบาท
น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวว่า กรมจะ เปิดรับคำขอไกล่เกลี่ยหนี้จากครูที่ได้รับความเดือดร้อนทั่วประเทศ เพื่อแยกแยะและคัดกรองประเภทของการเป็นหนี้ โดยกรมจะดำเนินการในส่วนของกลุ่มครูที่มีคำพิพากษาบังคับคดีแล้ว และยึดการไกล่เกลี่ยหนี้เช่นเดียวกับกรณีกองทุนเงิน ให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และหนี้สินเกษตรกร โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลและแยกประเภท โดยจะมีทั้งกลุ่มครูที่เป็นหนี้ในระบบ และบางส่วนก็เป็นหนี้นอกระบบ
ที่มา โพสต์ทูเดย์ วันที่ 20 พฤศจิกายน 2558