ก.ค.ศ.เผยผลสำรวจเงินคงเหลือของครูและ บุคลากรทางการศึกษากว่า1.2แสนคน พบกว่า 4 หมื่น มีเงินเหลือใช้น้อยกว่า 30% ของรายได้ เตรียมนำเข้าที่ประชุมแก้หนี้ครูวันนี้ เผยแนวทางแก้ปัญหาหนี้สินครูในอนาคต ต้องพิจารณาจากรายรับที่เหลือในแต่ละเดือนและอายุของผู้กู้ประกอบ เล็งช่วยหารายได้เสริมในรายที่เงินเหลือน้อย
วานนี้ (19 พ.ย.) นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 20 พ.ย. จะนำผลการสำรวจข้อมูลเงินคงเหลือของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในทุกสังกัด ทั้งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และวิทยาลัยชุมชนเสนอต่อพล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อหารือแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินในภาพรวม
โดยข้อมูลจากการสำรวจครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกสังกัด จำนวน128,959คน พบว่ามีรายรับคงเหลือต่ำกว่า30%จำนวน42,877คน รายรับเหลือ30-50%จำนวน30,513คน รายรับเหลือ50%จำนวน54,948คน
จำแนกรายสังกัด ดังนี้ สังกัด สพฐ. จำนวน115,597คน พบว่ามีรายรับคงเหลือต่ำกว่า30%จำนวน40,274คน รายรับเหลือ30-50%จำนวน27,852คน รายรับเหลือ50%จำนวน46,999คน สอศ. จำนวน11,218คนรายรับคงเหลือต่ำกว่า30%จำนวน2,247คน รายรับเหลือ30-50%จำนวน2,269คน รายรับเหลือ50%จำนวน6,565คน
กศน. จำนวน1,712คน รายรับคงเหลือต่ำกว่า30%จำนวน316คน รายรับเหลือ30-50%จำนวน320คน รายรับเหลือ50%จำนวน1,065คน สช. จำนวน165คน รายรับคงเหลือต่ำกว่า30%จำนวน8คน รายรับเหลือ30-50%จำนวน15คน รายรับเหลือ50%จำนวน141คน วิทยาลัยชุมชน จำนวน267คน รายรับคงเหลือต่ำกว่า30%จำนวน32คน รายรับเหลือ30-50%จำนวน57คน รายรับเหลือ50%จำนวน178คน
Advertisement
นายพินิจศักดิ์ กล่าวต่อว่าทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวยังเป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นที่ทางต้นสังกัดแจ้งมายังก.ค.ศ.เท่านั้น ยังต้องรอข้อมูลเพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะครูสังกัดสพฐ. และสอศ. ซึ่งบางคนยังไม่ยอมเปิดเผยข้อมูล
อย่างไรก็ตาม ต่อไปการแก้ปัญหาหนี้สินครูในอนาคต จะดูจากจำนวนรายรับที่เหลือในแต่ละเดือนและอายุของผู้กู้ประกอบการพิจารณา แนวทางการช่วยเหลืออาทิ ถ้าผู้กู้ที่มีจำนวนรายรับเหลือน้อย ก็อาจต้องช่วยโดยการหารายได้เพิ่มเป็นต้น โดยการแก้ปัญหาของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน เพราะบางคนที่มีรายได้ต่อเดือนเหลือมาก ก็ไม่จำเป็นต้องทำงานเพิ่ม เพียงแต่อาจจะต้องเพิ่มวงเงินชำระต่อเดือนเพื่อให้หนี้หมดเร็วขึ้น
นอกจากนั้นในการประชุมคณะกรรมการ สกสค. วันที่20พ.ย. จะมีการหารือการดำเนินการโครงการสวัสดิการเงินกู้กองทุนการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ซึ่งได้มีการชะลอโครงการช.พ.ค.7ไปในช่วงที่พล.ร.อ.ณรงค์พิพัฒนาศัย เป็นรมว.ศึกษาธิการ และที่ผ่านมามีหลายเสียงบอกว่า ไม่อยากให้ยุติโครงการ
ดังนั้น ในการประชุมคณะกรรมการ สกสค. อาจจะเสนอให้พิจารณาปรับลดวงเงินกู้ลงจาก เดิมที่ปล่อยกู้สูงสุดรายละ3ล้านบาท เหลือรายละ6แสนบาท ขณะเดียวกันการปล่อยกู้จะต้องนำข้อมูลรายรับที่เหลือรวมถึงอายุของผู้กู้มาประกอบการพิจารณาด้วย เพื่อดูความสามารถในการชำระหนี้ไม่ให้เกิดปัญหามีผู้ค้างชำระจำนวนมากเช่นปัจจุบัน
ด้าน พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าวว่า นพ.กำจรตติยกวี ปลัด ศธ. ได้รายงานความคืบหน้า การดำเนินการแก้ปัญหาหนี้สินครูให้ตนรับทราบเรียบร้อยแล้ว ซึ่งมีการแบ่งปัญหาออกเป็นกลุ่มๆ ซึ่งในการประชุมจะหารือกับก.ค.ศ. เพื่อหาแนวทางช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม ต่อไป
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ