เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน นายภาวิช ทองโรจน์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ The Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD) ได้เปิดเผยข้อมูลจากรายงาน Universal Basic Skills What Countries Stand To Gain ซึ่งได้วิเคราะห์และจัดลำดับการจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ใน 76 ประเทศทั่วโลกพบว่า 20 ประเทศที่จัดการศึกษาระดับ ม.ปลายได้ดีที่สุดได้แก่
1. สิงคโปร์
2. ฮ่องกง
3. เกาหลี
4. ญี่ปุ่น
5. ไต้หวัน
6. ฟินแลนด์
7. เอสโตเนีย
8. สวิตเซอร์แลนด์
9. เนเธอร์แลนด์
10. แคนาดา
11. โปแลนด์
12. เวียดนาม
13. เยอรมนี
14. ออสเตรเลีย
15. ไอร์แลนด์
16. เบลเยียม
17. นิวซีแลนด์
18. สโลวีเนีย
19. ออสเตรีย และ
20. อังกฤษ
โดยที่น่าจับตามองคือประเทศเวียดนาม ที่อยู่ในอันดับที่ 12 ขณะที่ประเทศไทยตกไปอยู่อันดับที่ 47 ดีกว่าประเทศมาเลเซียไม่มากนัก และเชื่อว่าอีกไม่นานประเทศมาเลเซียจะพัฒนาการศึกษาขึ้นมาเทียบเท่าประเทศไทย
นายภาวิชกล่าวต่อว่า ผลการจัดอันดับไม่น่าแปลกใจนัก เมื่อเทียบกับหน่วยงานอื่นที่พบว่าไทยอยู่อันดับรั้งท้าย เท่ากับว่าการพัฒนาของเราหยุดนิ่ง ขณะที่ประเทศอื่นๆ เดินหน้า ส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ ทั่วโลกจะมองข้ามประเทศไทย ดังนั้นจึงควรหันกลับมาเร่งพัฒนาการจัดการศึกษาอย่างจริงจัง โดยเฉพาะนโยบายการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ของ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง ถ้าสอบถามครูในพื้นที่จะพบว่าส่วนใหญ่ยังไม่พร้อม เพราะยังเน้นสอนตามเนื้อหาวิชาเป็นหลัก ทั้งนี้หลักสูตรปัจจุบันเน้นเนื้อหาสาระเป็นหลัก ดังนั้นจึงควรสร้างหลักสูตรใหม่ที่ลดความซ้ำซ้อน ซึ่งที่ผ่านมาตนจัดทำหลักสูตรใหม่ที่ลดเวลาเรียนลงเหลือ 660 ชั่วโมงต่อปี และมีตัวอย่างกิจกรรมที่สอดคล้องกับเนื้อหาเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อนำมาปรับใช้แล้ว แต่คิดว่าขณะนี้ สพฐ.คงยังไม่กล้านำหลักสูตรดังกล่าวมาดำเนินการ
ที่มา มติชน ฉบับวันที่ 19 พ.ย. 2558 (กรอบบ่าย)