'สุรวาท'ต้านเกณฑ์ประเมินPA หวั่นแม่พิมพ์ทิ้งห้องเรียน-จ้างทำผลงาน อดีตปธ.คุรุสภาติดใจให้น.ร.เสนอชื่อครู
เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน นายไพฑูรย์ สินลารัตน์ อดีตประธานกรรมการคุรุสภา เปิดเผยถึงกรณีที่คณะอนุกรรมการวิสามัญเฉพาะกิจเพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีวิทยฐานะหรือเลื่อนเป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ และวิทยฐานะเชี่ยวชาญ ตามข้อตกลงในการพัฒนางาน หรือ Performance Agreement (PA) เห็นชอบเรื่องการทำเอกสารรวบรวมผลงานครู หรือ PA เพื่อขอวิทยฐานะ โดยเสนอให้ครูทำเป็นกิจวัตรตั้งแต่เริ่มเป็นครู รวมถึงมีแนวคิดว่าครูไม่จำเป็นต้องเสนอขอด้วยตัวเอง อาจเป็นบุคคลอื่น เช่น ผู้บังคับบัญชาหรือนักเรียนเห็นผลงานและเสนอชื่อให้ก็ได้ว่า การเสนอเกณฑ์ในรอบหลังๆ ที่ผ่านมามีแนวโน้มที่จะเป็นวิทยฐานะทางวิชาการมากขึ้น แต่กระบวนการและขั้นตอนในขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน อาทิ การทำเอกสารรวบรวมผลงานครู หรือ PA ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าให้รวบรวมผลงานอะไร หากเป็นการรวบรวมผลงานประจำวัน ก็คาดว่าน่าจะไม่มีผลอะไรเพราะเป็นเรื่องของงานประจำที่ครูต้องทำอยู่ทุกวัน แต่ถ้ารวบรวมความรู้ งานวิจัยด้านวิชาการ หรือเทคนิคการสอนใหม่ๆ ก็ถือว่าน่าจะเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นการเพิ่มความรู้ความสามารถทางวิชาการของครู
นายไพฑูรย์กล่าวต่อว่า ส่วนแนวคิดที่จะให้บุคคลอื่นอย่างผู้บังคับบัญชาหรือนักเรียนสามารถเสนอชื่อครูแทนนั้น เห็นด้วยและมองว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ เพราะผู้บังคับบัญชามีความใกล้ชิดกับครู เห็นความสามารถในการทำงานของครูแต่ละคนได้อย่างชัดเจน แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมอีกครั้งหนึ่ง เช่น ผลงานทางวิชาการที่ผู้บริหารอาจไม่สามารถตรวจสอบได้นั้น ก็ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยดูแล ซึ่งต้องมีการจัดระบบให้ดี เน้นที่ความสามารถของครูโดยตรง ส่วนที่จะให้นักเรียนสามารถขอแทนได้ด้วยนั้น ไม่แน่ใจว่าจะเหมาะสมหรือไม่
"สิ่งสำคัญที่สุดในขณะนี้ คือการทำความเข้าใจเรื่องวิทยฐานะกับทุกฝ่ายให้ชัดเจนและตรงกัน หลายคนยังคิดว่าวิทยฐานะเป็นแค่เรื่องที่เกี่ยวกับงานประจำของครู เช่น งานสอน แต่แท้จริงแล้ววิทยฐานะเป็นฐานะทางวิชาการของครู ดังนั้น เกณฑ์วิทยฐานะควรจะทำให้ครูรู้สึกว่าได้พัฒนาความรู้ทางวิชาการของตัวเองให้เข้มแข็ง และสามารถนำไปต่อยอดในการเรียนการสอนได้อย่างสมบูรณ์" นายไพฑูรย์กล่าว
Advertisement
นายสุรวาท ทองบุ คณบดีคณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ในฐานะประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) กล่าวว่า การรวบรวมผลงาน หรือ PA เพื่อขอวิทยฐานะโดยให้ครูทำเป็นกิจวัตรตั้งแต่เริ่มเป็นครู อย่างครูที่จะขอวิทยฐานะระดับชำนาญการจะมีเวลารวบรวมผลงานถึง 8 ปี มองว่ายังไม่ตอบโจทย์ ผลงาน ครูควรดูทีละขั้นตอน ดูกันเป็นรายปี เพราะหากดูแค่เอกสารเมื่อถึงกำหนดเวลา ก็จะทิ้งห้องเรียนและจ้างทำผลงานทางวิชาการอย่างที่เคยเกิดขึ้น อย่างประเทศฟินแลนด์ ไม่มีการสร้างผลงานเพื่อวิทยฐานะ แต่วิเคราะห์และประเมินผลงานครูแบบปีต่อปี เรื่องไหนที่มีปัญหา ก็ช่วยแก้กันไปเป็นเรื่องๆ โดยพิจารณาหลายปัจจัยเพื่อคุณภาพการเรียนการสอนของครูอย่างแท้จริง
นายสุรวาทกล่าวต่อว่า การใช้ผลคะแนนทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ของนักเรียน มายื่นขอวิทยฐานะครู ก็เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง การพิจารณาความสำเร็จของครูไม่สามารถวัดได้จากผลสัมฤทธิ์จากการสอบของนักเรียน เพราะเด็กนักเรียน โรงเรียน และชุมชนในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน ต้องพิจารณาปัจจัยหลายๆ ด้าน แม้ว่าครูจะเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการศึกษา แต่คุณภาพของเด็กไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ครูเพียงอย่างเดียว รวมไปถึงการสอบโอเน็ต ก็เป็นการสอบที่ไม่สามารถวิเคราะห์ทักษะเด็กได้ทุกด้านเช่นกัน
"ควรมอบความรับผิดชอบให้ทุกฝ่ายในการดูแลเรื่องวิทยฐานะ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ ผู้อำนวยการโรงเรียน ที่จะต้องดูที่ความก้าวหน้า ไม่ใช่ดูที่ผลแล้วไปเทียบกับค่าเฉลี่ยกลาง วันนี้ประเทศไทยยังมีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามาก โรงเรียนที่เด็กเก่งอยู่แล้ว ครูก็แทบไม่ต้องทำอะไร อย่าเอาคะแนนมาตัดสิน รวมถึงเรื่องผลงานที่ไม่ต้องรอถึง 8 ปี แต่ควรดูทุกปีที่ทำ ดูความรับผิดชอบร่วมกันไม่ใช่เฉพาะครู เพราะการวัดวิทยฐานะควรมองอย่างรอบด้านในเรื่องการพัฒนา เช่น นับจำนวนเด็กที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ว่ามีกี่คน แล้วครูวางแผนว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร หากทำได้ก็น่าจะได้รับรางวัลด้วยการเลื่อนวิทยฐานะ แต่หากวัดด้วยคะแนนสอบของเด็ก ก็อาจจะส่งผลให้ครูมุ่งเน้นการเรียนการสอนเพื่อคะแนนสอบเพียงอย่างเดียว" นายสุรวาทกล่าว
นายปรเมษฐ์ โมลี ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กล่าวว่า การจะให้ครูมีวิทยฐานะที่สูงขึ้น ควรดูที่ผลสัมฤทธิ์และความสำเร็จของนักเรียนเป็นหลัก เน้นการพัฒนาให้เด็กมีองค์ประกอบ 3 ข้อ ได้แก่ 1.นักเรียนมีความรู้ความสามารถตามที่หลักสูตรกำหนด 2.มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ เป็นคนดี มีวินัย และ 3.มีทักษะชีวิต หากครูสามารถแสดงให้เห็นถึงกระบวนการสอนที่ทำให้นักเรียนประสบความสำเร็จ มีศักยภาพเพิ่มขึ้นได้ ก็ควรเพิ่มวิทยฐานะให้ครู ทั้งนี้ มองว่าหลักเกณฑ์และวิธีการเป็นเพียงเรื่องปลีกย่อย
ที่มา มติชน วันที่ 17 พฤศจิกายน 2558