โดย...ตะวัน หวังเจริญวงศ์
ยิ่งใกล้เข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) มากเท่าไหร่ การเน้นย้ำให้คนไทยฝึกทักษะภาษาอังกฤษยิ่งเข้มข้นขึ้น แต่ดูเหมือนผลที่ออกมาจะยังไม่เป็นที่น่าพอใจเท่าใดนัก
จากการจัดทำดัชนีความสามารถทางภาษาอังกฤษ ปี 2558 ของสถาบันภาษา เอดูเคชั่น เฟิร์ส (อีเอฟ) โดยประเมินจากประชากรอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 9.1 แสนคน ใน 70 ประเทศทั่วโลกที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ พบว่าไทยได้ 45.35 คะแนน คิดเป็นอันดับที่ 62 ของโลก ตกลงมาจากอันดับที่ 48 ในการสำรวจปี 2557
เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน พบว่าไทยอยู่อันดับ 5 จากประเทศที่ได้รับการสำรวจในอาเซียน 6 ประเทศ สูงกว่าประเทศเดียวคือ กัมพูชา
หากเปรียบเทียบให้ลึกลงไปพบว่าเกณฑ์คะแนนที่สิงคโปร์และมาเลเซียได้อยู่ในระดับสูง เวียดนามและอินโดนีเซียอยู่ในระดับกลาง ขณะที่ไทยและกัมพูชาอยู่ในระดับต่ำมาก
คะแนนของไทยยังถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกพอสมควร เพราะค่าเฉลี่ยที่ทั่วโลกได้กันอยู่ที่ 52.74 คะแนน รวมถึงยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของเอเชียซึ่งได้ 53.21 คะแนน
เรื่องน่าสนใจคือ หากเปรียบเทียบการใช้งบประมาณด้านการศึกษาของภาครัฐในช่วงปี 2553-2556 ของไทยกับประเทศต่างๆ จะพบว่าไทยเป็นประเทศที่ใช้งบประมาณด้านการศึกษาถึง 31.30% ของงบประมาณภาครัฐทั้งหมด ขณะที่ค่าเฉลี่ยของโลกอยู่ที่เพียง 14.0% และค่าเฉลี่ยของทั้งเอเชียอยู่ที่ 14.5%
สะท้อนว่าแม้จะใช้งบประมาณด้านการศึกษามากกว่า แต่อาจมีการใช้งบประมาณที่ผิดทิศผิดทางและขาดประสิทธิภาพ ทักษะภาษาอังกฤษของคนไทยจึงยังไม่ดีขึ้น
รายงานระบุว่า เรื่องหนึ่งที่ทำ ให้ทักษะภาษาอังกฤษแตกต่างจากสินค้าต่างๆ คือ ความต้องการขายไม่เติบโตตามความต้องการซื้อ สังเกตว่าสินค้า เช่น ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ เมื่อมีความต้องการซื้อเติบโตขึ้น ก็มีความต้องการขายตามมา ในทางตรงกันข้าม แม้ตลาดแรงงานของโลกจะต้องการคนที่มีทักษะภาษาอังกฤษมากขึ้น แต่จำนวนผู้ที่ใช้ภาษาอังกฤษได้กลับไม่เพิ่มขึ้นตามในอัตราเดียวกัน
รายงานแนะนำว่า ประเทศต่างๆ ที่ต้องการฝึกทักษะภาษาอังกฤษให้แก่บุคลากรในประเทศจำเป็นต้องฝึกทักษะการสื่อสารที่ใช้ได้จริงตั้งแต่วันแรกของการเรียนการสอน การใช้ครุศาสตร์แบบท่องจำเหนือการสื่อสารนั้น ถือเป็นการสอนที่อยู่นอกกระแสและขาดประสิทธิภาพ ต้องลงทุนฝึกทักษะครูภาษาอังกฤษให้สามารถสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร
นอกจากนี้ ยังอาจต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของคนวัยทำงานมากขึ้น ลงทุนด้านเทคโนโลยี การเรียนภาษาอังกฤษผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อเป็นตัวเลือกให้แก่คนวัยทำงาน ที่สำคัญต้องพัฒนาเครื่องมือประเมินผลภาษาอังกฤษที่มีประสิทธิภาพ
ล่าสุด กระทรวงศึกษาธิการของไทยตระหนักแล้วว่าครูภาษาอังกฤษชาวไทยที่สื่อสารภาษาอังกฤษได้ดีมีเพียง 6% เท่านั้น จึงมีนโยบายฝึกทักษะครูภาษาอังกฤษในโรงเรียนรัฐบาลจำนวน 500 คน จากจำนวน 4.3 หมื่นคน เพื่อติวเข้มการพูด การเขียน และเทคนิคการสอน ถือเป็นการเดินถูกทางเพื่อแก้ปัญหาระยะยาว
อย่างไรก็ตาม ปัญหาระยะสั้นยังคงรออยู่ตรงหน้า ไทยกำลังจะเข้าสู่เออีซีในอีกเพียงไม่กี่สิบวันข้างหน้า ไทยจะมีความต้องการผู้ที่ใช้ภาษาอังกฤษได้เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับทั้งการลงทุนที่จะเข้ามาในไทย และรองรับนักลงทุนไทยที่จะส่งคนไทยออกไปทำงานบริษัทลูกในอาเซียน นโยบายการลดจำนวนครูภาษาอังกฤษชาวต่างชาติ จึงยังไม่ใช่เรื่องที่สมควรดำเนินการในระยะสั้น
ปีงบประมาณ 2559 กระทรวงศึกษาธิการได้รับงบประมาณไปรวมทั้งสิ้น 5.17 แสนล้านบาท สูงกว่าในปีงบประมาณ 2556 ที่ได้ไป 4.6 แสนล้านบาท และปีงบประมาณ 2553 ซึ่งได้ไป 3.46 แสนล้านบาท อย่างชัดเจน นั่นหมายถึงว่าในปีงบประมาณล่าสุดนี้ ไทยได้รับ งบประมาณสูงขึ้นจากช่วงที่อีเอฟเคยสำรวจไว้ด้วย
เมื่อใช้งบประมาณมากขึ้น ย่อมมีความคาดหวังถึงคุณภาพการศึกษาที่สูงขึ้น ภาครัฐของไทยจำเป็นต้องวางแผนและกำหนดเป้าหมายทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวกันใหม่ให้ชัดเจน เพื่อให้การใช้งบประมาณด้านการศึกษาต่อจากนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ บุคลากรไทยพร้อมรับมือยุคเออีซี
ที่มา โพสต์ทูเดย์ วันที่ 16 พฤศจิกายน 2558