ศธ.มีแนวโน้มเปลี่ยนมาใช้คำว่า "เพิ่มความเป็นอิสระ" ให้แก่สถานศึกษาแทน "กระจายอำนาจ" จากผลการประชุมคณะทำงานทบทวนบทบาท ภารกิจ และโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ผ่านมา
รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะทำงานทบทวนบทบาท ภารกิจ และโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และหน่วยงานในกำกับ ศธ. มาให้ความคิดเห็นในการทบทวนภารกิจและโครงสร้าง ศธ. ที่สำนักงานปลัด ศธ.ได้ร่างเอาไว้ ซึ่งหลักคิดคือการปรับโครงสร้างต้องเกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการ สามารถบูรณาการงานอย่างครอบคลุม รวดเร็วและเกิดประสิทธิภาพในการทำงาน อีกทั้งต้องสอดคล้องกับการขับเคลื่อนนโยบายปฏิรูปการศึกษาด้วย เพราะที่ผ่านมาการทำงานในรูปแบบโครงสร้าง ศธ.เดิมพบปัญหาเรื่องการติดตามและประเมินผล อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังไม่ได้มีข้อสรุป แต่หลักการเบื้องต้นของการปรับโครงสร้างครั้งนี้จะไม่เพิ่มอัตรากำลังคน และงบประมาณอย่างแน่นอน รวมถึงจะใช้คำว่าเพิ่มความเป็นอิสระให้แก่สถานศึกษาแทนกระจายอำนาจ
Advertisement
ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมได้ให้ข้อคิดเห็นอย่างกว้างขวาง เห็นตรงกันว่าโครงสร้างต้องปรับเปลี่ยนไปตามภารกิจ ที่ต้องมีอยู่คือ กรมวิชาการ กรมปฐมวัย และการศึกษาขั้นพื้นฐาน และกรมอาชีวศึกษา ซึ่งในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ที่มีความกังวลว่าจะปรับโครงสร้างกันอย่างไร เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับภารกิจของ สอศ.ที่มุ่งเน้นผลิตกำลังคนสายอาชีพตามที่รัฐบาลมอบหมาย โดยมีข้อเสนออย่างน้อย 4 กรมนั้น ที่ประชุมได้รับข้อเสนอของ สอศ.เพื่อนำมาจัดทำรูปแบบโครงสร้างและนำเสนออีกครั้ง อย่างไรก็ตามตนได้มอบหมายให้แต่ละหน่วยงานกลับไปเขียนข้อดีข้อเสียของโครงสร้างเก่าว่ามีข้อขัดข้องประการใดบ้างที่คิดว่าโครงสร้างใหม่จะแก้ไขได้ รวมทั้งโครงสร้างใหม่ที่จะส่งผลให้การทำงานไม่ราบรื่น หลังจากนั้นจะนำกลับมาเสนอใหม่อีกครั้งในการประชุมครั้งหน้า ซึ่งคาดว่าจะสังเคราะห์รูปแบบโครงสร้าง ศธ. ได้ประมาณ 2-3 รูปแบบ จากนั้นจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากบุคคลและหน่วยงานภายนอก อาทิ ผู้ปกครอง นักเรียน นักวิชาการ
นพ.กำจรกล่าวต่อว่า ข้อสรุปดังกล่าวนั้น คาดว่าปลายเดือน ธ.ค.58 จะเสนอที่ประชุมองค์กรหลักและให้ รมว.ศึกษาธิการ นำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา หรือซุปเปอร์บอร์ดการศึกษาต่อไป
อ่านเพิ่มเติมได้จาก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 13 พฤศจิกายน 2558