นอกจากหนี้สินครูที่เป็นข่าวใหญ่ในหน้าหนังสือพิมพ์จนเป็นประเด็นที่พูดจากันอย่างกว้างขวาง ในช่วง 2–3 สัปดาห์ที่ผ่านมานี้แล้ว ยังมีอีกหนี้สินหนึ่งที่คิดเป็นเงินโดยรวมแล้วก็ก้อนใหญ่อยู่เหมือนกัน แต่ไม่ค่อยมีการพูดถึงมากนัก หนังสือพิมพ์เอาไปลงเป็นข่าวเล็กๆ หน้าในๆเท่านั้น
แต่ในทัศนะของผม หนี้สินก้อนนี้มีประเด็นที่น่าสนใจหลายๆ ประเด็น สามารถนำมาตีความหรือขยายความวิเคราะห์สถานการณ์ทางด้านสังคมไทยในหลายๆด้านได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว
หนี้ เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ไงล่ะครับ ยอดผู้ค้างชำระหนี้เงินกู้ดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นเป็นดินพอกหางหมูก้อนโตขึ้นเรื่อยๆในขณะนี้
ท่านที่ติดตามข่าวเรื่องนี้มาตลอดคงจะทราบเป็นอย่างดีแล้วว่า รัฐบาลไทยในอดีต ถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็นยุคนายกรัฐมนตรี ชวน หลีกภัย ครั้งแรกๆ โดยท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในยุคนั้น คุณธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ เป็นผู้ริเริ่มไว้ให้มีการจัดสรรเงินงบประมาณขึ้นก้อนหนึ่ง สำหรับประชาชนกู้ยืมเพื่อการเล่าเรียน
ถือเป็นนโยบายที่ดี เพราะจะเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กไทยที่เรียนดีแต่ยากจน มีโอกาสได้เรียนสูงๆ จนจบขั้นปริญญาตรีในสาขาต่างๆ
ตั้งชื่อกองทุนนี้ว่ากองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. ซึ่งดำเนินการกันเรื่อยมาจนถึงบัดนี้ ผมไม่แน่ใจว่ายอดเงินเป็นเท่าไรแล้ว เพราะข่าวระบุไว้เพียงยอดจำนวนผู้มาขอกู้และผู้ค้างชำระเท่านั้น
โดยมียอดผู้เรียนจบครบกำหนด นำเงินมาชำระรวม 2,185,133 ราย และก็มีผู้เรียนจบครบกำหนดที่ค้างชำระหนี้ถึง 1,205,626 ราย เห็นตัวเลขแล้วก็สะดุ้งไปเหมือนกัน เพราะเกินหลักล้านไปเยอะพอสมควร
ต่อมามีการจัดตั้ง กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต เรียกย่อๆว่า กรอ. ขึ้นอีกกองทุนหนึ่ง ปรากฏว่าในข่าวที่ผมอ่านให้ข้อมูลที่ชัดเจนกว่า
ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา มีผู้กู้ยืมทั้งหมด 345,100 ราย ใช้งบประมาณรวม 18,074 ล้านบาท ครบกำหนดชำระ 267,184 ราย เป็นเงิน 10,318 ล้านบาท ค้างชำระ 180,700 ราย เป็นเงิน 7,243 ล้านบาท
ไม่น้อยนะครับ เงิน 7,243 ล้านบาทที่ว่า
สาเหตุของผู้ที่ไม่มาชำระหนี้ ลำดับแรกก็คือไม่มีงานทำจึงไม่มีเงินและถัดมาคือมีงานทำมีเงินแต่ตั้งใจไม่ชำระหนี้
สถิติสาขาของผู้ที่ค้างชำระมากที่สุด ได้แก่ สังคมศาสตร์ ศิลปศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศึกษาศาสตร์ อยู่ที่ประมาณ 72 เปอร์เซ็นต์
อนุมานได้ว่าคงไม่มีงานทำ เพราะบัณฑิตในสาขาที่ว่านี้ค่อนข้างจะหางานยากอยู่แล้ว
ในข่าวบอกด้วยว่าสาขาที่เพิ่มเปอร์เซ็นต์สูงขึ้น ได้แก่ กลุ่มสาธารณสุขและพยาบาล และกลุ่มแพทย์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่หางานง่าย โดยเฉพาะแพทย์ จบแล้วมีงานทำทันที แต่กลับไม่นำเงินยืมมาชำระ
แสดงให้เห็นว่าบัณฑิตกลุ่มนี้ขาดจิตสำนึกที่ดี ไม่รับผิดชอบในหนี้ที่ตนสร้างขึ้น ทั้งๆที่เป็นหนี้ที่ช่วยให้ตนมีโอกาสได้เล่าเรียนโดยแท้
ที่สำคัญเงินก้อนนี้ เป็นเงินภาษีจากหยาดเหงื่อของประชาชนอื่นๆในสังคม ที่รัฐเจียดมาให้เป็นเงินหมุนเวียนเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา เมื่อเรากู้แล้ว เรียนจบแล้ว มีงานทำแล้ว ก็ควรจะรีบนำมาชำระคืน เพื่อกองทุนเขาจะได้มีเงิน สำหรับให้เด็กรุ่นหลังกู้ยืมต่อไป
นี่กลับทำเฉื่อยชา เหมือนว่าจะเบี้ยวไม่ยอมชำระซะงั้น
Advertisement
ล่าสุดของล่าสุด ข่าวบอกว่า ครม.มีมติเห็นชอบให้จัดตั้งกองทุนการศึกษาขึ้นมาใหม่ โดยควบรวมทั้ง 2 กองทุนดั้งเดิมเข้าด้วยกันให้เหลือกองทุนเดียวเพื่อรองรับ พ.ร.บ.กองทุนเพื่อการศึกษาที่จะเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.และสู่การพิจารณาของ สนช. หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไปในเร็วๆนี้
ก็ได้แต่หวังว่าคงจะมีการกำหนดมาตรการต่างๆที่เหมาะสม
เพื่อให้กองทุนตอบสนองความต้องการของผู้เล่าเรียนที่ขัดสนจริงๆให้มากที่สุด และขณะเดียวกันก็ควรกำหนดวิธีการที่จะเรียกชำระคืนได้อย่างสะดวกและรัดกุมที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
สำคัญที่สุดอย่าลืมหาวิธีสร้างจิตสำนึกให้แก่ผู้กู้ยืมด้วยว่าจบแล้วมีงานทำแล้วจะต้องรีบนำเงินมาผ่อนคืน อย่าเบี้ยวเงินก้อนนี้เป็นอันขาด
เพราะถ้าพวกเขา (หรือเธอ) คนใดก็ตามสามารถเบี้ยวเงินกองทุนการศึกษาได้ ก็อย่าหวังเลยว่าเขา (หรือเธอ) จะเป็นคนดีศรีแผ่นดินได้ในอนาคต เพราะคนที่มีอุปนิสัยเช่นนี้จะต้องหาทางเบี้ยวชาติเบี้ยวสังคมไทยอีกแน่ๆ พยากรณ์ล่วงหน้าไว้ได้เลยครับ.
“ซูม”
ที่มา: http://www.thairath.co.th