เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะอนุกรรมการวิสามัญเฉพาะกิจ เพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีวิทยฐานะ หรือเลื่อนเป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ และวิทยฐานะเชี่ยวชาญ ตามข้อตกลงในการพัฒนางาน หรือ Performance Agreement (PA) เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการว่า ต่อไปการทำเอกสารรวบรวมผลงานครู หรือ PA เพื่อขอวิทยฐานะ ควรให้ครูทำเป็นกิจวัตรตั้งแต่เริ่มเป็นครู ไม่ใช่ทำเฉพาะเข้าสู่วิทยฐานะ ครูที่จะขอวิทยฐานะขั้นต้น คือ ชำนาญการ จะมีเวลารวบรวมผลงานถึง 8 ปี โดยภายใน 8 ปีนั้น หากสามารถสร้างผลงานเชิงประจักษ์ก็สามารถยื่นขอวิทยฐานะได้ทันที เช่น หากจะใช้ผลคะแนนทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ในการยื่นขอวิทยฐานะ เด็กต้องได้คะแนนโอเน็ตอยู่ในค่าเฉลี่ย หรือ Mean และหากจะขอวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ ผลคะแนนโอเน็ตต้องสูงกว่าค่าเฉลี่ย ถ้าเป็นวิทยฐานะเชี่ยวชาญ จะต้องมีผลงานเชิงประจักษ์ชัดเจนที่ชี้ให้เห็นว่าเด็กมีคุณภาพที่ดี และถ้าเป็นวิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษ ซึ่งเป็นวิทยฐานะสูงสุด ต้องมีผลงานที่เป็นนวัตกรรมหรืองานวิจัยใหม่ๆ ด้วย เป็นต้น
"คณะทำงานต้องไปกำหนดรายละเอียดว่าในการขอวิทยฐานะแต่ละระดับ จะต้องใช้ปริมาณผลงานแค่ไหน และใช้ผลงานอะไรบ้าง ซึ่งการปรับเกณฑ์ PA ทำให้ครูไม่ต้องทำเอกสารมากเหมือนที่ผ่านมา แต่ลดภาระครูทำรายงานเพียงปีละ 2-3 หน้า ซึ่งจะไม่รบกวนเวลาสอน ทำให้ครูไม่ต้องทิ้งห้องเรียน ไม่ต้องทิ้งเด็ก และยังทำให้ครูสามารถวางแผนการสอนและการทำงานได้ตลอดทั้งปี ทั้งนี้ ในการเสนอขอวิทยฐานะแนวใหม่ ไม่จำเป็นที่ครูจะต้องเสนอขอด้วยตนเอง อาจจะมีบุคคลอื่น เช่น ผู้บังคับบัญชา นักเรียนเห็นผลงานและเสนอชื่อให้ก็ได้" นพ.กำจรกล่าว และว่า หากคณะอนุกรรมการ วิสามัญฯ จัดทำรายละเอียดหลักเกณฑ์ PA รูปแบบใหม่เสร็จ และคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ให้ความเห็นชอบตามที่เสนอ ต่อไปการเข้าสู่วิทยฐานะของครู ก็จะมีเหลือแนวทางเดียว
ที่มา มติชน ฉบับวันที่ 12 พ.ย. 2558 (กรอบบ่าย)