ถกแม่พิมพ์ถูกฟ้องพ้นราชการหรือไม่ ทบทวนปล่อยกู้ ช.พ.ค.-เกณฑ์คนค้ำ
รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ซึ่งมีหนี้สูงถึง 1.2 ล้านล้านบาทว่า ธนาคารออมสินอาจจะพิจารณาลดดอกเบี้ย แต่ลดให้เฉพาะผู้กู้ที่มีวินัยดี ไม่ได้ลดให้ครูที่ค้างชำระหนี้สิน โดยขณะนี้ทางธนาคารออมสินได้ทยอยฟ้องครูที่ค้างชำระหนี้ เป็นเวลา 3 งวดติดต่อกันแล้ว ซึ่งเท่าที่ทราบมีครูค้างชำระหนี้และถูกธนาคารออมสินดำเนินการฟ้องร้องไปแล้วประมาณ 1 พันกว่าราย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างปรับโครงสร้างหนี้ ส่วนตัวเลขผู้ที่กำลังจะถูกฟ้องทั้งหมดจะเป็นเท่าไรนั้น ต้องรอข้อมูลจากทางธนาคารออมสิน ซึ่งจะมีการหารือร่วมกันอีกรอบในปลายเดือน พ.ย.นี้ สำหรับครูที่ถูกฟ้องร้องจะถึงขั้นต้องออกจากราชการหรือไม่นั้น เรื่องนี้คงต้องหารือร่วมกับผู้เกี่ยวข้อง เพราะแม้ในกฎหมายจะกำหนดไว้ว่า ผู้ที่ถูกฟ้องร้องจะถือว่าผิดวินัยราชการด้วย แต่ก็ยังมีช่องว่างให้อยู่ในดุลพินิจสามารถพิจารณาช่วยเหลือได้ ยกเว้นผู้ที่ถูกฟ้องจนล้มละลาย
Advertisement
ปลัดกระทรวงศึกษาธิการกล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่มีข่าวการปลอมสลิป ตกแต่งบัญชี เพื่อให้ครูมีเงินเหลือพอจะกู้ได้นั้น ที่ผ่านมาตนได้ออกนโยบายให้หน่วยงานในสังกัด อาทิ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ว่าในการรับรองเงินเดือนให้กับครูในสังกัด ผู้บังคับบัญชาต้องพิจารณาแล้วว่าเป็นข้อมูลจริง หากเป็นการรับรองที่เป็นเท็จ ผู้บังคับบัญชาจะมีความผิดด้วย อีกประเด็นที่เป็นปัญหาคือการค้ำประกัน ที่ปัจจุบันเป็นการค้ำกันไปมา ซึ่งไม่ถูกต้อง โดยหลักการแล้ว คนค้ำควรจะมีเงินเดือนสูงกว่าคนกู้ดังนั้น ตนจะเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ปรับแก้ระเบียบการค้ำประกันให้คนที่ค้ำมีเงินเดือนสูงกว่าคนกู้ เพราะถ้ากำหนดเช่นนี้ คนที่กู้ไปแล้วก็จะวนกลับมาค้ำไม่ได้ เพราะจะต้องมีเงินเดือนเหลือสูงกว่าผู้กู้ เพื่อให้ปล่อยกู้ได้ยากขึ้นด้วย
นอกจากนี้ ในส่วนของการปล่อยกู้ในโครงการสวัสดิการเงินกู้กองทุนการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ซึ่งที่ผ่านมาได้ชะลอการปล่อยกู้ไปก่อนนั้นคงต้องกลับมาทบทวน เพราะการปล่อยกู้มีทั้งข้อดีข้อเสีย อาจจะมีครูที่มีความจำเป็น หากไปกู้ธนาคารก็อาจต้องเสียดอกเบี้ยสูง ดังนั้น จึงอาจไม่ปิดประตูทั้งหมด แต่การพิจารณาปล่อยกู้จะต้องมีหลักเกณฑ์ที่ยากขึ้น รวมถึงต้องไปดูจำนวนวงเงินกู้ที่เหมาะสม.
ที่มา ไทยรัฐ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2558