โดย สุพจน์ เอี้ยงกุญชร
ที่มา นสพ.มติชนรายวัน
คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร ม.แม่โจ้ย่างเข้าสู่ปีการศึกษาที่สองแล้วที่มหาวิทยาลัยไทยเปลี่ยนจากการปิดเทอมใหญ่ในเดือนเมษายนและพฤษภาคมมาปิดในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม และเปลี่ยนจากปิดเทอมย่อยในเดือนตุลาคมมาปิดในเดือนธันวาคม แม้ไม่มีอะไรชัดเจนว่ามีความเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในอาเซียน ดังบทความเรื่อง มหาลัยมหาหลอกปิดเปิดเทอมตามอาเซียน (มติชน ฉบับวันที่ 29 กันยายน 2558) แต่ในสังคมก็เรียกกันติดปากแล้วว่าการปิดเปิดเทอมตามอาเซียน
สำหรับผลกระทบที่มีต่อมหาวิทยาลัยและผู้คนที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยก็ได้มีการกล่าวถึงมามากต่อมากจากหลายฝ่าย รวมทั้งบทความเรื่อง มติ ปอมท.เรื่องการปิดเปิดเทอมมหาวิทยาลัยไทยตามอาเซียน (มติชน ฉบับวันที่ 23 มิถุนายน 2558) แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีความเสียหายอื่นๆ ที่คาดไม่ถึงตามมาอีก ซึ่งสรุปเบ็ดเสร็จได้อีกครั้งหนึ่ง ดังนี้
ประการแรก เป็นอุปสรรคต่อการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากความไม่สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย เพราะเดือนเมษายนและพฤษภาคมจัดเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดในรอบปี ซึ่งควรเป็นช่วงการพักร้อนหรือปิดเทอมใหญ่เช่นที่เคยเป็นมา แต่มหาวิทยาลัยไทยกลับมาใช้เป็นช่วงการเรียนในเทอมสอง สภาพอากาศร้อนจัดจึงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ ขณะที่เดือนตุลาคมนั้นเป็นช่วงฤดูฝนที่พายุหมุนเขตร้อนมีโอกาสเข้าถึงประเทศไทยได้มากที่สุดในรอบปี ซึ่งจะทำให้เกิดฝนตกหนักและมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดน้ำท่วมได้ แต่มหาวิทยาลัยไทยก็ยอมเสี่ยงจัดให้เป็นช่วงการเรียนการสอนสำหรับเทอมแรก แทนที่จะปิดเทอมให้อยู่กับบ้านหรือไปทำกิจกรรมอื่นๆ ที่หลีกเลี่ยงผลกระทบได้ง่ายกว่า
สำหรับวันหยุดมากมายในช่วงเดือนเมษายนนั้น ก็นับเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพอีกประการหนึ่ง ทั้งวันหยุดอย่างเป็นทางการ (วันจักรี วันสงกรานต์ และวันหยุดชดเชย) และวันหยุดอย่างไม่เป็นทางการเพราะต้องหยุดเอง (วันเช็งเม้งและวันเกณฑ์ทหาร) ล้วนทำให้การเรียนการสอนไม่ต่อเนื่องและไม่มีประสิทธิภาพเป็นอย่างยิ่ง
นอกจากนี้ การเรียนวิชาทหารรักษาดินแดน (รด.) ของนักศึกษาปีหนึ่ง ก็เป็นอุปสรรคอีกประการหนึ่งต่อการเรียนในมหาวิทยาลัยด้วย ทั้งนี้ เพราะปกติการฝึก รด.จะจัดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคมซึ่งเคยเป็นช่วงปิดเทอมย่อย แต่ปัจจุบันกลายเป็นช่วงหนึ่งของเทอมแรก หากนักศึกษาต้องไปฝึก รด.ก็จะขาดเรียนไปอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ซึ่งเป็นผลเสียต่อการเรียนในมหาวิทยาลัยของนักศึกษาปีหนึ่งอย่างแน่นอน
ประการที่สอง เป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและความสัมพันธ์ในครอบครัว เพราะช่วงเดือนเมษายนจัดเป็นช่วงเดือนกิจกรรมเกี่ยวกับประเพณีสำคัญของครอบครัว มีทั้งวันปีใหม่ไทย วันครอบครัว วันผู้สูงอายุ และวันทำบุญให้แก่บรรพบุรุษ การเรียนการสอนในช่วงนี้จึงเป็นอุปสรรคต่อการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ อย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญหนึ่งในสี่ของภารกิจหลักของทุกมหาวิทยาลัยด้วย
ประการที่สาม เกิดความสูญเสียพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ทั้งนี้เพราะการเรียนการสอนในช่วงฤดูร้อนแม้จะทำได้โดยการเรียนในห้องปรับอากาศ แต่ก็เป็นการสิ้นเปลืองไฟฟ้าอย่างมโหฬาร ดังจะเห็นได้จากปริมาณการใช้ไฟฟ้าในช่วงฤดูร้อน (เดือนมีนาคม-พฤษภาคม) ของปีที่ผ่านมา ปริมาณการใช้ไฟฟ้ารวมของประเทศทำลายสถิติสูงสุดในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมาถึง 2-3 ครั้ง นี่คือผลพวงจากการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศในช่วงฤดูร้อนอย่างชัดเจน
ประการที่สี่ ส่งเสริมให้เกิดวิกฤตภัยแล้ง ปกติเดือนเมษายนและพฤษภาคมเป็นช่วงปลายของฤดูแล้งที่มักเกิดปัญหาภัยแล้ง (ขาดแคลนน้ำอุปโภคและบริโภค) แต่มหาวิทยาลัยกลับมาเพิ่มปริมาณความต้องการใช้น้ำให้สูงขึ้นอีกจากกิจกรรมการเรียนการสอน เหมือนเป็นการซ้ำเติมปัญหาภัยแล้ง ความขาดแคลนน้ำจึงอาจเกิดรุนแรงขึ้นถึงขั้นวิกฤตได้อย่างที่ไม่ควรจะเกิด โดยเฉพาะในปีนี้อาจมีบางมหาวิทยาลัยต้องปิดเรียนกลางคันไปโดยปริยายเพราะขาดแคลนน้ำสำหรับกิจกรรมต่างๆ ในมหาวิทยาลัยนั่นเอง
ประการที่ห้า เกิดความลักลั่นกับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพราะนักเรียนจะจบชั้นมัธยมปลายตั้งแต่เดือนมีนาคม แต่มหาวิทยาลัยเปิดเทอมแรกในเดือนสิงหาคม ซึ่งระยะเวลาที่เว้นว่างถึง 4-5 เดือนนี้เป็นเหตุให้นักเรียนมีเวลาว่างมากเกินไป จึงอาจเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กซึ่งอยู่ในช่วงวัยรุ่นไปทำกิจกรรมนอกลู่นอกทางได้ นับเป็นความเสี่ยงค่อนข้างสูงยิ่ง
นอกจากนี้ การที่ช่วงปิดเทอมของมหาวิทยาลัยและโรงเรียนเหลื่อมล้ำกันทำให้ครอบครัวที่มีลูกมากกว่าหนึ่งคนมีปัญหาในการทำกิจกรรมร่วมกันได้ และที่สำคัญ ความเหลื่อมล้ำนี้ทำให้ผู้ปกครองดูแลทั้งนักเรียนและนักศึกษาพร้อมๆ กันได้ไม่เต็มที่อย่างแน่นอน
Advertisement
ประการที่หก เป็นอุปสรรคในการหางานทำของบัณฑิตใหม่ เพราะนักศึกษาบางส่วนไม่สามารถสมัครงานได้ โดยเฉพาะงานภาคเอกชนเพราะต้องรอเกณฑ์ทหารในปีถัดไป หรือบางส่วนต้องจบการศึกษาช้าไปอีก 1-2 ปี เพราะต้องไปรับราชการทหาร อันเป็นผลมาจากการเสี่ยงไปเกณฑ์ทหารก่อนจบการศึกษานั่นเอง ยิ่งไปกว่านั้น การรับสมัครงานทั้งของภาคราชการและเอกชน โดยมากมักเปิดรับสมัครในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงที่นักศึกษาชั้นปีที่สี่ยังไม่จบการศึกษาด้วย
ประการที่เจ็ด เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศ เพราะการที่นักศึกษาต้องจบการศึกษาล่าช้าไปจากเดิมถึง 2 เดือนนั้น ทำให้นักศึกษาเข้าสู่ตลาดแรงงานช้าไปอีก 2 เดือนด้วย ซึ่งทำให้มีรายจ่ายเพิ่มขึ้นทั้งของภาครัฐและภาคครัวเรือนของนักศึกษา แต่ไม่มีรายได้หรือผลผลิตใดๆ มาชดเชยรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นนี้แต่อย่างใด แม้ยังไม่มีการคำนวณตัวเลขความเสียหายในเรื่องนี้ แต่เชื่อว่าเป็นมูลค่ามหาศาลอย่างแน่นอน เพราะจะเกิดกับนักศึกษาทุกรุ่นทุกคนตลอดไป ตราบที่มหาวิทยาลัยไทยยังคงปิดเปิดเทอมตามอาเซียนต่อไป
ความเสียหายทั้งเจ็ดประการนี้นับว่าชัดเจนเป็นอย่างยิ่ง และยังไม่แน่ว่าจะมีความเสียหายอื่นๆ ที่ยังไม่ปรากฏชัดเจนในตอนนี้อีกหรือไม่ เช่น ปัญหาสุขภาพจิตของนักเรียน นักศึกษา อาจารย์ และผู้ปกครองที่ดูเหมือนถูกบีบบังคับให้ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติและความสมดุลที่เคยมีมาแต่เดิม
ในปีการศึกษา 2558 นี้ มีการสำรวจความเห็นของนักศึกษา คณาจารย์ และเจ้าหน้าที่สายสนับสนุน ถึงความเหมาะสมของการที่มหาวิทยาลัยปิดเปิดเทอมตามอาเซียนแล้วจำนวน 15 มหาวิทยาลัย ผลสรุปในภาพรวมปรากฏว่า กว่าร้อยละ 60 ไม่เห็นด้วยต่อการปิดเปิดเทอมตามอาเซียน โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยในต่างจังหวัดที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก บางมหาวิทยาลัยมีผลสรุปว่าไม่เห็นด้วยสูงกว่าร้อยละ 80 ยิ่งไปกว่านั้น ยังพบว่ามีบางมหาวิทยาลัยที่ไม่ยอมปิดเปิดเทอมตามอาเซียนมาตั้งแต่แรกด้วย เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี และสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ เป็นต้น และบางมหาวิทยาลัยมีแผนจะกลับไปปิดเปิดเทอมตามเดิมด้วย
ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการก็มีรัฐมนตรีชุดใหม่แล้ว สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ก็ได้เลขาธิการคนใหม่ด้วย แต่ไม่ทราบว่าท่านจะมีวิสัยทัศน์ใหม่ในเรื่องนี้หรือไม่ เพราะยังไม่เห็นท่านแสดงความเห็นในเรื่องนี้ หรือท่านกำลังมัวสาละวนอยู่กับการยกระดับ สกอ.ขึ้นเป็นกระทรวงอุดมศึกษาจึงไม่มีเวลามาพิจารณาเรื่องนี้ หรือท่านจะปล่อยให้มหาวิทยาลัยประกาศอิสรภาพกันเอง
ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง คงต้องขอยืมคำพูดของบางท่านที่เคยกล่าวไว้ว่า อุดมศึกษาไทยไม่ต้องมี สกอ. ก็ได้
สุพจน์ เอี้ยงกุญชร
คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร ม.แม่โจ้
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 10 พฤศจิกายน 2558