ปลัด ศธ.เผยครูถูกออมสินฟ้องค้างชำระหนี้แล้วกว่าพันราย เตือน กศน.รับรองเงินเดือนเท็จมีความผิด เล็งแก้ระเบียบค้ำประกัน คนค้ำต้องเงินเดือนสูงกว่า
เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวกรณีที่มีข่าวว่าธนาคารออมสินได้ทยอยฟ้องครูที่ค้างชำระหนี้เป็นเวลา 3 งวดติดต่อกันแล้ว ว่า เท่าที่ทราบขณะนี้มีครูที่ค้างชำระหนี้และถูกธนาคารออมสินดำเนินการฟ้องร้องไปแล้วประมาณ 1 พันกว่าราย ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับโครงสร้างหนี้ ส่วนตัวเลขผู้ที่กำลังจะถูกฟ้องทั้งหมดจะเป็นเท่าไรนั้น ต้องรอข้อมูลจากทางธนาคารออมสิน จะมีการหารือร่วมกันอีกรอบในปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ ส่วนครูที่ถูกฟ้องร้องจะถึงขั้นต้องออกจากราชการหรือไม่นั้น เรื่องนี้คงต้องหารือร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เพราะแม้กฎหมายจะกำหนดไว้ว่าผู้ถูกฟ้องร้องจะถือว่าผิดวินัยราชการด้วย แต่ก็ยังมีช่องว่างให้อยู่ในดุลพินิจ สามารถพิจารณาช่วยเหลือได้ ยกเว้นผู้ถูกฟ้องจนล้มละลาย ส่วนกรณีที่มีข่าวว่ามีการปลอมสลิปตกแต่งบัญชีเพื่อให้ครูมีเงินเดือนเหลือพอจะกู้ได้นั้น ที่ผ่านมาได้ออกนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดอย่างสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ว่าในการรับรองเงินเดือนให้กับครูในสังกัด ผู้บังคับบัญชาจะต้องพิจารณาแล้วว่าเป็นข้อมูลจริง หากเป็นการรับรองที่เป็นเท็จ ผู้บังคับบัญชาจะมีความผิดด้วย อีกประเด็นที่เป็นปัญหาคือการค้ำประกัน ซึ่งปัจจุบันเป็นการค้ำกันไปมา ซึ่งไม่ถูกต้อง โดยหลักการแล้วคนค้ำควรจะมีเงินเดือนสูงกว่าคนกู้ ดังนั้นจะเสนอให้ สกสค.ปรับแก้ระเบียบการค้ำประกัน ให้คนที่ค้ำประกันมีเงินเดือนสูงกว่าคนกู้ เพราะถ้ากำหนดเช่นนี้ คนที่กู้ไปแล้วก็จะวนกลับมาค้ำไม่ได้ เพราะจะต้องมีเงินเดือนเหลือสูงกว่าผู้กู้ เพื่อให้ปล่อยกู้ได้ยากขึ้นด้วย
นพ.กำจรกล่าวว่า นอกจากนั้นในส่วนของการปล่อยกู้ในโครงการสวัสดิการเงินกู้ฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเหลือเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ในสมัย พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย อดีต รมว.ศธ. ได้ให้ชะลอการปล่อยกู้ไปก่อนนั้น คงต้องกลับมาทบทวน เพราะการปล่อยกู้มีทั้งข้อดีข้อเสีย อาจจะมีครูที่มีความจำเป็น หากไปกู้ธนาคารก็อาจต้องเสียดอกเบี้ยสูง ดังนั้นจึงอาจไม่ปิดประตูทั้งหมด แต่การพิจารณาปล่อยกู้จะต้องมีหลักเกณฑ์ยากขึ้น รวมถึงต้องดูจำนวนวงเงินกู้ที่เหมาะสม
นายประมวล ปิ่นมาศ นายกเทศบาลตำบลสามง่าม จ.พิจิตร อดีตผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูจังหวัดพิจิตร กล่าวว่า กรณีรัฐบาลมีนโยบายจะมาช่วยแก้หนี้ครู ถือว่าเป็นเรื่องดี แต่ก็สามารถแก้ได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น แก้ไม่ได้ทั้งหมดทุกเรื่อง เพราะว่าครูมีหนี้สินมากและหลายแห่ง ครูเองไม่ใช่คนรวย ครูส่วนใหญ่ก็เป็นลูกชาวนา ลูกชาวบ้านธรรมดามาจากฐานะยากจน ดังนั้นครูจึงจำเป็นต้องกู้เงินสหกรณ์ออมทรัพย์ครูเพื่อส่งลูกเรียน ลงทุนด้านธุรกิจ หรือสร้างบ้าน ซื้อรถ สร้างฐานะตนเองให้ดีขึ้น นอกจากนี้ครูเองก็จะต้องรู้ตัวเองด้วยว่าควรกู้แบบต้องส่งได้ ไม่ใช่มีอะไรก็กู้หมด จะกลายเป็นหนี้สินพอกหางหมู เป็นหนี้ไม่มีวันสิ้นสุด อยากเสนอแนะแก้หนี้ให้ครู ควรให้กู้น้อยลง อย่าให้กู้มาก เพราะจะมีหนี้มากจนไม่มีเงินใช้หนี้ และครูเองก็ต้องมีวินัย ดูศักยภาพของตัวเอง พยายามลดหนี้สินตัวเอง
Advertisement
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ออมสินขอทำตามแนวทางเดิมที่ออกมาก่อนหน้านี้ ที่กำหนดไว้ 4 แนวทาง คือ 1.กลุ่มที่อยู่ในขั้นวิกฤต ได้แก่ ลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างการถูกฟ้อง ถูกดำเนินคดี หรือถูกบังคับคดี ขาดความสามารถในการชำระหนี้จากสาเหตุที่จำเป็น หรือเป็นลูกหนี้ที่มีทรัพย์สินน้อยกว่าหนี้สิน โดยธนาคารจะชะลอการฟ้องร้องดำเนินคดีหรือบังคับคดีไม่เกิน 3 ปี (มีระยะเวลาฟ้องคดีเหลือไม่น้อยกว่า 2 ปี) พักชำระดอกเบี้ยไม่เกิน 3 ปี แต่ให้ชำระหนี้เงินต้น เมื่อครบ 3 ปี ให้นำดอกเบี้ยที่พักไว้เฉลี่ยจ่ายคืนรวมกับเงินงวดต่อไป
นายชาติชายกล่าวว่า 2.กลุ่มลูกหนี้ใกล้วิกฤต ได้แก่ ลูกหนี้ที่มีหนี้ค้างชำระเกินกว่า 12 งวดติดต่อกัน (ก่อนวันที่ 1 มิถุนายน 2558) ซึ่งธนาคารจะให้พักชำระดอกเบี้ยไม่เกินครึ่งหนึ่ง เป็นเวลาไม่เกิน 2 ปี แต่ให้ชำระหนี้ เงินต้นและดอกเบี้ยส่วนที่เหลือ หลังจากนั้นเมื่อครบ 2 ปี ให้นำดอกเบี้ยที่พักไว้เฉลี่ยจ่ายคืนรวมกับเงินงวดต่อไป กลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มลูกหนี้ที่มีหนี้ค้างชำระไม่เกิน 12 งวดติดต่อกัน สามารถปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามมาตรการของธนาคารออมสิน และกลุ่มที่ 4 ลูกหนี้ปกติ คือลูกหนี้ที่ยังไม่ได้ผิดนัดชำระ และสามารถบริหารจัดการหนี้ได้ ธนาคารให้พักชำระเงินต้นไม่เกิน 2 ปี แต่ให้ชำระดอกเบี้ย
นายชาติชายกล่าวว่า ทั้งนี้ ออมสินเปิดให้ครูมาลงทะเบียนเพื่อเข้า 4 แนวทางถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2558 พบว่ามีลงทะเบียนประมาณ 4.5 หมื่นราย มูลหนี้ 7 หมื่นล้านบาท และขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการตามมาตราทั้ง 4 แนวทางข้างต้น ส่วนกรณีข้อเสนอให้ออมสินลดดอกเบี้ยลงเหลือ 1-2% นั้นคงเป็นไปไม่ได้ แต่หากรัฐบาลเข้ามาช่วยด้วยการจ่ายดอกเบี้ยให้ก็คงสามารถทำได้ โดยครูที่เป็นหนี้อยู่กับออมสินมีจำนวนกว่า 4 แสนราย มีหนี้กับออมสินรวม 4.7 แสนล้านบาท ออมสินคิดดอกเบี้ย 5-6% ต่อปี ถือว่าถูกที่สุดแล้วสำหรับการให้กู้ประเภทสินเชื่อบุคคล จากปกติหากกู้กับธนาคารพาณิชย์เสียดอกเบี้ยในอัตรา 28%
เมื่อถามว่า จะมีการโอนหนี้ทั้งหมดของครู 1.2 ล้านล้านบาทมาอยู่กับออมสิน นายชาติชายกล่าวว่า คงเป็นไปไม่ได้ และยังไม่ได้มีการหารือในเรื่องนี้ ซึ่งการเข้าไปหารือกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีก่อนหน้านี้ คือไปรายงานว่าออมสินทำอะไรไปบ้าง ซึ่งเป็น 4 แนวทางดังกล่าว โดยยังไม่ได้มีโครงการใหม่ๆ ออกมา
ที่ จ.อุบลราชธานี นายประจิณ ฐานังกรณ์ ประธานสภาลูกหนี้กู้วิกฤตชาติ พร้อมสมาชิกเข้ายื่นหนังสือสนับสนุนโครงการโรงพยาบาลรักษาหนี้ที่ศูนย์ดำรงธรรม ศาลากลางจังหวัดโดยมี พ.อ.อ.ชำเรือง พุฒิพรหม หัวหน้าศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดอุบลราชธานี เป็นผู้รับเรื่อง
นายประจิณกล่าวว่า ขณะนี้ข้าราชการทุกหมู่เหล่าเป็นหนี้สินกันมากถึงขั้นฆ่าตัวตายเพราะว่าหาทางออกไม่ได้ และโครงการแก้ปัญหาหนี้ต่างๆ รัฐบาลยื่นมือเข้ามาช่วยแก้ปัญหาหนี้ให้กับประชาชน ส่วนใหญ่โครงการนั้นๆ เป็นโครงการที่เกิดจากรัฐบาลไปปรึกษาจากเจ้าหนี้สถาบันการเงิน ดังนั้นโครงการที่ออกมาจึงไม่สามารถแก้ปัญหาให้กับลูกหนี้ได้ ในนามของประธานกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้ตามคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 666/2554 ได้เขียนโครงการโรงพยาบาลรักษาหนี้ เพื่อให้เป็นการรักษาหนี้แบบยั่งยืน และโครงการนี้ได้ประโยชน์กับทุกฝ่าย ทั้งลูกหนี้ เจ้าหนี้ และรัฐบาล มีแนวทางการดำเนินการพักชำระหนี้เป็นเวลา 10 ปี ให้ลูกหนี้ได้เข้าเป็นสมาชิกกับสภาลูกหนี้กู้วิกฤตชาติยื่นเรื่องเข้าโครงการและให้ทางรัฐบาลเป็นผู้ดูแลเรื่องดอกเบี้ย สมาชิกจะต้องเอาหลักทรัพย์มาค้ำประกันแทน หลักทรัพย์ที่นำมาค้ำประกันหนี้จะมีราคาสูงกว่าหนี้อยู่แล้ว รัฐบาลจะไม่ขาดทุนเนื่องจากมีหลักทรัพย์ค้ำประกันอยู่แล้ว
ที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดอุทัยธานี นางทัศนีย์ ใจการุณ ประธานคณะกรรมการสภาลูกหนี้กู้วิกฤตชาติ จ.อุทัยธานี พร้อมด้วยคณะข้าราชการครูในพื้นที่ จ.อุทัยธานี รวมกว่า 50 ราย ร่วมกันยื่นหนังสือร้องทุกข์และหนังสือโครงการโรงพยาบาลรักษาหนี้กับศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด เพื่อขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณาการจัดตั้งโครงการโรงพยาบาลรักษาหนี้ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาหนี้ให้กับลูกหนี้แบบยั่งยืน
ที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ นางณัฐภัสสร สกุลพาณิชนันท์ ประธานกลุ่มสภาลูกหนี้กู้วิกฤตชาติ จ.อุตรดิตถ์ พร้อมข้าราชการประจำ ข้าราชการบำนาญในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงกลาโหม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รวบรวมเอกสารหนี้สินของสมาชิกทั้งในระบบและนอกระบบ รวมทั้งสิ้น 231 ราย พร้อมหนี้ทั้งสิ้นกว่า 1,300 ล้านบาท ยื่นหนังสือร้องทุกข์ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ ผ่านนายสุมิตร เกิดกล่ำ ปลัดจังหวัดอุตรดิตถ์ ในฐานะเลขานุการศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด เพื่อพักหนี้ให้กับสมาชิกทั้งต้นและดอกเป็นเวลา 10 ปี โดยไม่ต้องหักผ่านเงินเดือน โดยให้รัฐบาลออกตราสารหนี้รับซื้อเอาไว้ หากสมาชิกได้รับการพักหนี้แล้วจะส่งผลให้สมาชิกทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้นและแข็งแรงขึ้น ทำให้เจ้าหนี้ทั้งในสถาบันการเงินและหนี้นอกระบบมีโอกาสได้รับหนี้สินคืน
ที่มา มติชน ฉบับวันที่ 12 พ.ย. 2558 (กรอบบ่าย)