เสนอเกณฑ์เลื่อนวิทยฐานะครูรูปแบบใหม่ ขอได้ถ้าสอนมาแล้วไม่ต่ำกว่า 8 ปี และให้ครูทำรายงานการสอนทุกปีเพื่อสะท้อนผลงานนับตั้งแต่เริ่มสอน ที่สำคัญนักเรียนจะต้องมีคะแนนโอเน็ตตามเกณฑ์ที่กำหนด หรือถ้าขอระดับเชี่ยวชาญพิเศษจะต้องมีนวัตกรรมการสอนที่ชัดเจน เชื่อลดภาระครูไม่ต้องทิ้งเด็ก
นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัด ศธ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการวิสามัญเฉพาะกิจเพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะเชี่ยวชาญ ตามข้อตกลงในการพัฒนางานเลื่อนทำงานปรับปรุงหลักเกณฑ์วิทยฐานะครูใหม่ (Performance Agreement : PA) ที่ตนเป็นประธาน ว่า ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการ การทำเอกสารรวบรวมผลงานครูเพื่อขอวิทยฐานะ ควรให้ครูทำเป็นกิจวัตรทุกปีการศึกษาตั้งแต่เริ่มเป็นครู ซึ่งครูที่จะสามารถขอวิทยฐานะขั้นต้น คือ ชำนาญการได้ ต้องสอนมาเป็นเวลา 8 ปีก่อน โดยภายใน 8 ปีนั้น หากครูมีผลงานเชิงประจักษ์ก็สามารถยื่นขอวิทยฐานะได้ เช่น ใช้ผลคะแนนทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ของนักเรียนที่ครูเป็นผู้สอนในการยื่น โดยคะแนนต้องอยู่ในระดับค่าเฉลี่ย หรือ Mean เป็นต้น และหากจะขอระดับชำนาญการพิเศษ นักเรียนอาจจะต้องมีผลคะแนนโอเน็ตต้องสูงกว่าค่าเฉลี่ยกี่เปอร์เซ็นต์ ก็ต้องมีการลงรายละเอียดกัน ถ้าเป็นวิทยฐานะเชี่ยวชาญจะต้องมีผลงานเชิงประจักษ์ชัดเจนที่ชี้ให้เห็นว่าเด็กมีคุณภาพที่ดี และถ้าเป็นวิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษซึ่งเป็นวิทยฐานสูงสุด ต้องมีผลงานที่เป็นนวัตกรรมหรืองานวิจัยใหม่ๆ ด้วย
"ทั้งหมดนี้เป็นข้อตกลงในหลักการเบื้องต้น ซึ่งคณะทำงานต้องไปกำหนดรายละเอียดอีกครั้งว่าในการขอวิทยฐานะแต่ละระดับจะต้องใช้ปริมาณผลงานขนาดไหน และใช้ผลงานอะไรบ้างในการยื่นขอวิทยฐานะ" ปลัด ศธ.กล่าว
Advertisement
นพ.กำจรกล่าวอีกว่า การดำเนินการดังกล่าวจะสามารถลดภาระให้ครูไม่ต้องทำเอกสารจำนวนมากเหมือนที่ผ่านมา เพราะครูจะทำรายงานสิ่งที่สอนหรือตั้งเป้าตลอดปีการศึกษาเพียง 2-3 หน้าเท่านั้น ซึ่งจะไม่รบกวนเวลาที่จะจัดการเรียนการสอน ทำให้ครูไม่ต้องทิ้งห้องเรียน ไม่ทิ้งเด็ก และยังทำให้ครูสามารถวางแผนการสอนและการทำงานได้ตลอดทั้งปีได้ด้วย
"การประเมินวิทยฐานะในรูปแบบนี้จะสะท้อนอะไรบางอย่าง เช่น โรงเรียนไหนที่มีครูระดับเชี่ยวชาญพิเศษจำนวนมาก โรงเรียนก็จะมีนวัตกรรมการเรียนการสอนต่างๆ มากมาย เป็นต้น และในการเสนอขอวิทยฐานะแนวใหม่ไม่จำเป็นที่ครูจะต้องเสนอขอด้วยตนเอง อาจจะมีบุคคลอื่น เช่น ผู้บังคับบัญชา นักเรียน เห็นผลงานและเสนอชื่อให้ก็ได้ อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการนำเข้าคณะกรรมการ ก.ค.ศ.เพื่อพิจารณา หากเห็นชอบและมีการประกาศใช้ก็อาจจะเหลือหลักเกณฑ์ให้วิทยฐานะแก่ครูเพียงช่องทางเดียว" ปลัด ศธ.กล่าว.
ที่มา ไทยโพสต์ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2558