ปลัดศธ.เจออีกหนทางแก้ปัญหาหนี้สินครู กู้ได้แต่ต้องไม่ง่าย เล็งทบทวนปล่อยกู้ ช.พ.ค. 7 ชง สกสค. แก้ระเบียบคนค้ำต้องเงินเดือนมากกว่าคนกู้ พร้อมยกเลิกจับคู่ค้ำประกันกันเอง
วันนี้( 10 พ.ย.) รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดถึงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูว่า ในส่วนของหน่วยงานที่ตนกำกับดูแล อาทิ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้ให้นโยบายไปว่าการรับรองเงินเดือนของผู้ใต้บังคับบัญชาที่จะนำไปใช้ทำธุรกรรมต่าง ๆ ต้องรับรองตามความเป็นจริง หากรับรองเท็จผู้บังคับบัญชาต้องรับผิดชอบด้วย ส่วนเรื่องการค้ำประกันการกู้เงินที่เป็นปัญหาในปัจจุบัน คือ การจับคู่ค้ำประกันกันเอง ซึ่งตามหลักการแล้วไม่ถูกต้อง เพราะผู้ที่จะค้ำประกันได้จะต้องเครดิตดีและมีเงินเดือนสูงกว่าผู้กู้ ดังนั้นตนจึงได้ให้นโยบายไปแล้วว่า ต่อไปคนที่จะค้ำประกันเงินกู้ให้ผู้อื่นได้ต้องมีเงินเดือนสูงกว่าผู้กู้ ซึ่งในส่วนของโครงการสวัสดิการเงินกู้ฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา( ช.พ.ค.)คงต้องให้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ไปปรับแก้ระเบียบการค้ำประกันที่ให้ผู้ค้ำต้องมีเงินเดือนสูงกว่าผู้กู้ด้วย
Advertisement
“การให้คนค้ำต้องมีเงินเดือนสูงกว่าคนกู้ จะทำให้คนค้ำไม่สามารถหวนกลับมากู้โดยให้คนที่ตนเองไปค้ำไว้มาค้ำตนเองได้ จะต้องไปหาคนที่มีเงินเดือนสูงกว่ามาค้ำให้ ซึ่งจะทำให้การปล่อยกู้เป็นไปได้ยากขึ้นส่วนกรณีที่พล.ร.อ.ณรงค์พิพัฒนาศัย อดีตรมว.ศึกษาธิการ ให้ชะลอโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.7ไปก่อน นั้น คงต้องกลับมาทบทวนอีกครั้งเพราะการปล่อยกู้มีทั้งข้อดีข้อเสีย เนื่องจากอาจมีครูที่มีความจำเป็นต้องกู้เงินอยู่ ดังนั้นจึงอาจไม่ปิดประตูทั้งหมด แต่การพิจารณาปล่อยกู้จะต้องมีหลักเกณฑ์ที่ยากขึ้น รวมถึงต้องไปดูจำนวนวงเงินกู้ที่เหมาะสมด้วย”ปลัด ศธ.กล่าวและว่า ส่วนที่มีครูเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยแก้ปัญหาหนี้สินครูเช่นเดียวกับที่แก้ปัญหาเกษตรกรนั้น อยากให้เข้าใจว่าสภาพปัญหาหนี้ของเกษตรกรกับครูแตกต่างกัน เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่กู้เงินไปเพื่อลงทุนซึ่งเมื่อได้ผลผลิตมาก็นำไปขายมาใช้หนี้ แต่ที่เป็นหนี้สินไม่สามารถใช้หนี้ได้ก็เพราะเหตุสุดวิสัย เช่น สภาพดินฟ้าอากาศไม่อำนวย ทำให้ไม่ได้ผลผลิต รัฐบาลก็ต้องลงไปช่วยเหลือ ขณะที่ครูส่วนใหญ่กู้เงินไปทำอะไรยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน แต่เท่าที่ทราบไม่ได้เกี่ยวกับข้องกับวิชาชีพครู.
อ่านต่อที่ : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 10 พฤศจิกายน 2558