“อาภรณ์” เผย สกอ.ยินดีสนับสนุนทุกเรื่อง แต่ สกอ.-ก.พ.อ.ไม่มีอำนาจการปรับขึ้นเงินเดือน ชี้ข้าราชการพลเรือนในมหา’ลัย ต้องใช้กฎหมายอิงกับ ก.พ. ไม่เหมือนข้าราชการครูที่มีกฎหมายกำหนดบัญชีเงินเดือน ได้เอง
วันนี้ (10 พ.ย.) น.ส.อาภรณ์ แก่นวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวถึงกรณีที่เครือข่ายข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาสายสนับสนุน และเครือข่ายพนักงานมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ส่งหนังสือร้องเรียนถึงสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เพื่อขอให้ทบทวนมติที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ที่เห็นชอบแนวทางการขอรับการจัดสรรงบประมาณ เพื่อปรับขึ้นเงินเดือน 8% ให้แก่ข้าราชการพลเรือนสามัญในสถาบันอุดมศึกษาสายวิชาการ โดยขอให้ครอบคลุมข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาสายสนับสนุน และพนักงานมหาวิทยาลัยด้วยว่า การปรับเงินเดือนเพิ่ม 8% ในครั้งนี้ มาจากการปรับเพิ่มให้แก่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา 8% ไปแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งก็เป็นการขึ้นเงินเดือนให้แก่สายวิชาการ จึงทำให้เราต้องดำเนินการในส่วนของสายวิชาการก่อน แต่ในโอกาสหน้าจะมีการปรับเพิ่มในสายอื่นหรือไม่คงต้องหารือกันต่อไป
Advertisement
“สกอ.เป็นหน่วยงานที่มีความยุติธรรมอยู่แล้ว ถ้ามีอะไรที่เราสนับสนุนได้เราก็ยินดีสนับสนุน แต่ต้องเข้าใจว่าเรื่องการปรับเพิ่มเงินเดือนนั้น สกอ. และ ก.พ.อ.ไม่ได้มีอำนาจ เพราะข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัยต้องใช้พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน ซึ่งอิงกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) อีกทั้ง ก.พ.ก็มีหน่วยงานอื่นที่ใช้ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนเช่นกัน หากปรับขึ้นเงินให้ข้าราชการมหาวิทยาลัยทั้งหมด ก็อาจทำให้หน่วยงานอื่นออกมาเรียกร้องได้เหมือนกัน ทั้งนี้ไม่เหมือนกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ที่มี พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลาทางการศึกษา ที่สามารถกำหนดบัญชีเงินเดือนของข้าราชการครูได้ด้วยตนเอง” เลขาธิการ กกอ. กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม สกอ. อยากให้อาจารย์มหาวิทยาลัยมีเงินเดือนสูงอยู่แล้ว เพราะเมื่อค่าตอบแทนสูงก็จะจูงใจให้คนเก่งมาเป็นอาจารย์มากขึ้น และมหาวิทยาลัยก็จะมีโอกาสได้คัดเลือกคนเก่งๆ ซึ่งเมื่อเราได้อาจารย์เก่งก็จะส่งผลไปยังคุณภาพบัณฑิตด้วย.
อ่านต่อที่ : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 10 พฤศจิกายน 2558