“อนุสรณ์” ชี้ปฏิรูปการศึกษา 2 รอบไม่ใช่การปฏิรูปที่แท้จริง ได้ผลเพียง 10% เผย 4 ปัจจัยหลักทำให้ล้มเหลว โมเดลเดียว-ไม่ปรับโครงสร้างพื้นฐานฯ-ใช้งบอบรมครูมากเกิน-การประเมินผลยังเน้นท่องจำ
วันนี้ (9 พ.ย.) นายอนุสรณ์ ฟูเจริญ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวปาฐกถานำตอนหนึ่งเรื่อง “การปฏิรูปการเรียนรู้ในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศ” ในเวทีการศึกษากับการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ระบบโรงเรียนปฏิรูปการเรียนรู้ ที่โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ ว่า การปฏิรูปการศึกษา 2 รอบที่ผ่านมา ตนคิดว่าไม่ใช่การปฏิรูปการศึกษาที่แท้จริง ซึ่งมีโรงเรียน 10% เท่านั้น ที่ปฏิรูปสำเร็จ แต่อีก 90% ปฏิรูปไม่สำเร็จ เพราะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ห้องเรียน และนักเรียนเลย ทั้งนี้ปัจจัยที่ทำให้การปฏิรูปไม่ประสบความสำเร็จ มี 4 ประเด็นหลัก ได้แก่
1.โรงเรียนมีจำนวนมาก และมีความหลากหลาย ดังนั้นการปฏิรูปการศึกษาโดยกำหนดเพียงโมเดลเดียว จึงไม่มีทางที่จะปฏิรูปสำเร็จ อีกทั้งปัจจุบันยังมีโรงเรียนที่ขาดครูเกือบ 60% ของโรงเรียนทั้งหมด จึงไม่ต้องถามถึงเรื่องคุณภาพ ขณะนี้ ศธ. จึงต้องแก้ปัญหาด้วยการใช้การเรียนทางไกลผ่านดาวเทียม เพื่อให้นักเรียนได้เรียนเต็มเวลา และครบทุกวิชาตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ. กล่าวต่อไปว่า
ประเด็นที่ 2 ไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานของการศึกษาเลย ห้องเรียนเมื่อ 50 ปีที่แล้วเป็นอย่างไร ปัจจุบันก็ยังเป็นแบบนั้น รัฐมองข้าม และไม่เคยลงทุนในเรื่องเหล่านี้ ทำให้บรรยากาศในห้องเรียนไม่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ ไม่มีแหล่งเรียนรู้ และมุมหนังสือดีๆ ให้เด็ก หากเป็นเช่นนี้จะให้เด็กแสวงหาความรู้ด้วยตนเองได้อย่างไร
3.ใช้งบประมาณไปจำนวนมากกับการอบรมครู แต่ก็ไม่ได้ช่วยทำให้ครูปรับวิธีการเรียนการสอน จึงทำให้การปฏิรูปไม่สำเร็จ และ
4.การวัดและประเมินผล ซึ่งทุกวันนี้เรายังให้ความสำคัญกับการสอบแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) มากเกินไป ทั้งที่โอเน็ตเป็นการสอบวัดความรู้ที่เน้นความจำ จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ครูยังสอนเด็กแบบท่องจำ ดังนั้นหากมีการปรับรูปแบบการวัดและประเมินผล เชื่อว่ากระบวนการสอนของครูก็จะเปลี่ยนตามไปด้วย.
อ่านต่อที่ : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 9 พฤศจิกายน 2558