นายกสมาคมวิทย์ชี้ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ช่วยพัฒนาระบบการศึกษา แนะแนวทางปฏิบัติสำคัญ พัฒนาครูให้เข้าใจหลัก เตรียมเข้าพบ รมช.ศธ.เสนอกิจกรรมวิทยาศาสตร์
นายสุพจน์ หารหนองบัว คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ว่า ถือเป็นเรื่องที่ดีอย่างมากที่ทาง พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ส่งเสริมการเพิ่มกิจกรรมให้เด็กได้เรียนรู้ และแนวทางการเรียนการสอนในลักษณะนี้ ทั่วโลกที่ทุกประเทศนำมาใช้ในระบบการศึกษา เพราะเป็นการให้ความสำคัญกับการจัดกิจกรรม เสริมทักษะด้านต่างๆ ให้แก่เด็ก มากกว่าที่จะเรียนรู้แค่เนื้อหาสาระในแต่ละวิชา และการจัดในลักษณะนี้จะทำให้เด็กสามารถคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหาเป็น และใช้ชีวิต มีทักษะรับมือกับโลกศตวรรษที่ 21 ตนเชื่อว่านโยบายนี้จะช่วยพัฒนาระบบการศึกษาของไทยให้ก้าวหน้าได้แน่นอน
นายสุพจน์กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญของโครงการนี้คือแนวทางในการปฏิบัติ เพราะต้องยอมรับว่าครูไทยยังคงยึดติดการเรียนการสอนแบบให้เด็กท่องจำ อีกทั้งเนื้อหาสาระแต่ละวิชามีจำนวนมาก ถ้าจะทำให้นโยบายดังกล่าวเกิดเป็นรูปธรรมได้ชัดเจน กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) คงต้องทำให้ครบวงจรคือ ต้องพัฒนาครูให้เข้าใจหลักการของเรื่องที่จะสอนและสอนหลักการ ไม่ใช่สอนเนื้อหาทั้งหมดในเล่ม เพราะถ้าครูเข้าใจหลักการของแต่ละเรื่องที่จะสอน ก็จะตั้งโจทย์ คำถามให้เด็กไปศึกษา ค้นคว้า คิด วิเคราะห์ และนำมาถกเถียงแลกเปลี่ยนในชั้นเรียน ครูต้องปรับการสอนของตนเอง ทำให้เด็กเป็นทั้งผู้เสพความรู้และผู้สร้างองค์ความรู้ ไม่ใช่ท่องจำ หรือเสพความรู้เพียงอย่างเดียว นอกจากนั้น ต้องมีการปรับระบบการวัดประเมินครู วิทยฐานะ ต้องวัดสิ่งที่ครูทำกิจกรรมต่างๆ ที่เพิ่มการเรียนรู้นอกห้องเรียน และต้องมีการปรับระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยใหม่หมด ข้อสอบต้องเป็นแบบอัตนัยที่เด็กไม่สามารถท่องจำไปทำข้อสอบได้ แต่เด็กที่คิด วิเคราะห์ สามารถทำข้อสอบได้ และทางสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ จะเข้าพบ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เพื่อเสนอแนวทางในการจัดกิจกรรมด้านวิทยาศาสตร์ที่จะนำมาใช้นอกชั้นเรียนหลังเด็กเลิกเรียน ในวันที่ 12 พฤศจิกายนนี้.
ที่มา ไทยโพสต์ วันที่ 9 พฤศจิกายน 2558