บทความโดย สมหมาย ปาริจฉัตต์
(ที่มา:มติชนรายวัน 5 พ.ย.2558)
ทีมงานโต๊ะข่าวการศึกษา "มติชน" นำเสนอภาพกราฟิก ชาร์ตโครงสร้างการบริหารการศึกษายุค คสช.ขึ้นหน้าหนึ่ง ขานรับนโยบาย ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลาเรียนรู้ ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน เป็นต้นไป
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา หรือซุปเปอร์บอร์ดการศึกษาครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ นั่งหัวโต๊ะเป็นประธาน
ก่อนการประชุม ประธานซุปเปอร์บอร์ดบอกว่า ยอมรับว่ายังไม่สามารถเดินหน้างานพัฒนาการศึกษาได้มากนัก เพราะติดปัญหาและอุปสรรค ส่วนตัวเข้าใจดี
ครับ ฟังแล้ว น่าสนใจ น่าเห็นใจ น่ามีส่วนร่วมด้วยช่วยกัน ทำอย่างไรให้ปฏิรูปการศึกษาเดินหน้าต่อไปในแนวทางที่ควรจะเป็น ในยุคสถานการณ์พิเศษที่ว่ากันว่า อะไรมักจะสำเร็จได้ในยุคนี้
ขนาดมีอำนาจพิเศษ มาเจอกับปัญหาอุปสรรคที่ดำรงอยู่ จนต้องยอมรับว่ายังไปไม่ได้มากนัก
ประเด็นปัญหา อุปสรรคที่ว่าคืออะไร ท่านประธานไม่ได้เฉลยในรายละเอียด
โครงสร้างตามชาร์ตที่เขียนไว้ กับนโยบายใหม่ เป็นต้นว่า ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ เร่งพัฒนาภาษาอังกฤษ และภาษาต่างประเทศ สอบอัตนัยให้มากขึ้น ปรับเปลี่ยนวิธีการประเมินผล จะเป็นคำตอบ ช่วยแก้ปัญหาปฏิรูปการศึกษาได้หรือไม่ก็ตาม
ปัจจัยความสำเร็จหรือไม่สำเร็จของการปฏิรูปการศึกษา ยังสะท้อนได้จากโครงการต่างๆ ที่เข็นออกมารองรับกับอุปสรรคจากการดำเนินนโยบายและการบริหารจัดการ
โดยเฉพาะประการหลัง ความไม่ต่อเนื่องทางนโยบาย เป็นปัญหาหลักประการหนึ่งที่ทำให้การศึกษาไทย ปฏิรูปไม่สำเร็จ เหตุจากปัจจัยทางการเมืองและการบริหาร
เปลี่ยนผู้บริหารที นโยบายก็เปลี่ยนที ของเก่าทิ้งไป หรือหยุดไว้ เอาของใหม่ดีกว่านั่นเอง
รูปธรรมที่น่าติดตาม จากการจัดสรรงบประมาณขับเคลื่อนงานหลักการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปี 2559 สพฐ.ได้รับงบประมาณทิ้งสิ้น 319,000 ล้านบาท ใครว่ามาก แต่งบส่วนใหญ่ล้วนเป็นเรื่องของเงินเดือนประจำ
ส่วนที่เหลือดำเนินโครงการหรือแผนงานต่างๆ มีเพียง 17,000 ล้านบาท จากงบนี้ ถูกแบ่งออกเป็น 5 เรื่องหลักเร่งด่วนตามนโยบายใหม่ คือ 1.โครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ เบื้องต้น 60 ล้าน 2.โครงการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ 400 กว่าล้าน 3.โครงการวัดและประเมินผลการศึกษา 105 ล้าน 4.ปฏิรูปหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 400 ล้าน 5.โครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ (DLTV) 1,700 ล้านบาท
ส่วนโครงการแผนงานเดิมที่เคยทำมาก่อนหน้านี้ เป็นโครงการสำคัญ รัฐมนตรีว่าการเดิมประกาศผลักดันด้วยตัวเองเพื่อเป้าหมาย กระจายอำนาจการบริหารการศึกษา และปฏิรูปการเรียนรู้ เป็นหลัก
ทั้งๆ ที่เป็นโครงการที่สอดรับกับแนวทางปฏิรูปการศึกษาด้วยการปฏิรูปการเรียนรู้ ปฏิรูปกระบวนการสอนของครูและการเรียนรู้ของนักเรียน
เขตพื้นที่การศึกษาเดินหน้านำร่องกันไปแล้ว ร่วมมือกับสถาบันระดับอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นศูนย์พี่เลี้ยงให้กับ 20 เขตพื้นที่ มีโรงเรียนนำร่องเขตละ 15 โรง รวมทั่วประเทศ 300 โรง กำลังเคว้งคว้างว่า "นาย" จะเอาอย่างไร
โครงการที่ชื่อว่า "โครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน"
จากเอกสารรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานปฏิรูปการศึกษาต่อ คสช. วันที่ 20 พฤศจิกายน 2557 ระบุว่า เริ่มต้นด้วยการนำร่องกระจายบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบอย่างจริงจังไปยังเขตพื้นที่การศึกษา หนุนเสริมการพัฒนาวิชาชีพครูเพื่อปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน พร้อมปลดล็อกอุปสรรคการบริหารจัดการศึกษาที่ขัดขวางการปฏิรูปการเรียนรู้ด้วยตนเองของโรงเรียน
กำหนดกรอบการดำเนินงานเบื้องต้นไว้จำนวน 3 ปี ต่อเนื่อง ปีงบประมาณ 2558-2560 หรือ พ.ศ.2557-2560 ดำเนินการพัฒนาโรงเรียนนำร่องครบ 100% ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั้งหมด (225 เขต) มีโรงเรียนนำร่องทั้งสิ้น 3,375 โรงเรียน
ก่อนเริ่มดำเนินโครงการมีการจัดประชุม ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และมัธยมศึกษาทั่วประเทศ เช่นเดียวกับการประชุมชี้แจงนโยบาย ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ที่เพิ่งผ่านมาไม่นานนี้
ถึงวันนี้ ดำเนินโครงการไปได้ปีเดียว สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจัดทำรายงาน โดยการเก็บข้อมูลความคิดเห็นของบุคคลและกลุ่มต่างๆ พร้อมสังเคราะห์และประมวลผลเพื่อสะท้อนปัญหาและทางออก ตอบโจทย์ปฏิรูปการศึกษาไทยในด้านที่ต้องได้รับการแก้ไขทันที เตรียมการเดินหน้าเพื่อประเมินผลโครงการต่อไป
เมื่อเวลาเปลี่ยนไป คนเปลี่ยนไป แผนงานโครงการปีที่ 2 พ.ศ.2559 และปีที่ 3 พ.ศ.2560 ยังไม่มีความชัดเจน ยังไม่มีใครตอบชัดต่อสังคมว่าจะมีความต่อเนื่องทางนโยบายอย่างไร จะทำต่อหรือไม่ เพราะเหตุใด และใช้งบประมาณเท่าไหร่
ปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน จะกลายเป็นอีกกรณีตัวอย่างหนึ่งของปัญหาอุปสรรคการปฏิรูปการศึกษา เพราะเหตุความไม่ต่อเนื่องทางนโยบายหรือไม่ ทำนองเดียวกันกับหลายๆ นโยบาย หลายๆ โครงการที่ผ่านมาในอดีต ผ่านมาแล้วก็ผ่านไปตามฝ่ายนโยบาย
กรณีทำนองนี้ ซุปเบอร์บอร์ดการศึกษาควรมีส่วนให้ข้อคิดเห็น เสนอแนะ ท้วงติงบ้างหรือไม่
ไหนว่า กลไกนี้สร้างขึ้นมาก็เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง หรือป้องกันความไม่ต่อเนื่องทางนโยบาย ไงล่ะ