อดีตเลขาธิการ วช. เผยเก็บข้อมูลงานวิจัยของประเทศเข้าคลังได้แค่ 80% ส่วนที่เหลือยังกระจัดกระจาย แนะรวมงบฯให้ทุน พร้อมใช้ประโยชน์ประเมินภายนอก บีบมหา'ลัยส่งงานวิจัยเข้าคลัง
วันนี้ (5 พ.ย.) ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า จากการที่ วช. ได้จัดทำคลังข้อมูลงานวิจัยไทย โดยเชื่อมโยงงานวิจัยจากหน่วยงานต่างๆ ผ่านเว็บไซต์ www.tnrr.in.th นั้น ขณะนี้มีข้อมูลอยู่ในคลังแล้วประมาณ 370,000 เรื่อง คิดเป็นประมาณ 80% ของงานวิจัยทั้งประเทศ ส่วนผลงานวิจัยที่เหลือยังถูกจัดเก็บอย่างกระจัดกระจาย บางชิ้นก็อยู่ที่ตัวผู้วิจัยเอง บางส่วนถูกจัดเก็บเป็นฐานข้อมูลของคณะในมหาวิทยาลัยต่างๆ ไม่ได้ถูกรวบรวมมาเก็บไว้ที่เดียวกัน จึงทำให้ไม่สะดวกต่อการค้นคว้า หรือ นำไปพัฒนาต่อยอด นอกจากนี้ยังพบปัญหาการใช้คำศัพท์ในการวิจัยที่แตกต่างกัน ส่งผลให้เกิดปัญหาในการสืบค้นข้อมูล หรือเกิดความซ้ำซ้อนในชื่อเรื่อง และตัวงานวิจัย จึงอยากให้หน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาเข้ามาเชื่อมโยงกับคลังข้อมูลงานวิจัยไทย ซึ่ง วช. พร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการเชื่อมต่อฐานข้อมูล
“ก้าวต่อไปในการพัฒนางานวิจัยของประเทศ ควรจะมีการบูรณาการการจัดสรรงบประมาณทุนวิจัย โดยดูงานวิจัยที่มีอยู่ในฐานข้อมูล เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน และยังเป็นการบีบให้สถาบันการศึกษานำงานเข้ามาไว้ในคลังข้อมูลงานวิจัยไทย ซึ่งจะทำให้งานวิจัยที่จะผลิตขึ้นมาใหม่มีคุณค่า และนำไปใช้ประโยชน์ได้สูงสุด ขณะเดียวกันในการประเมินคุณภาพภายนอกของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ก็สามารถตรวจสอบข้อมูลงานการวิจัยเชิงประจักษ์ของมหาวิทยาลัยได้ง่ายขึ้นด้วย” ศ.นพ.สุทธิพร กล่าว
ด้าน ศ.ดร.ประมวล ตั้งบริบูรณ์รัตน์ ผู้อำนวยการโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย กล่าวว่า แนวทางการแก้ปัญหาด้านการวิจัยของประเทศไทยในระยะยาว ประกอบด้วย 1. ทำวิจัยจากปัญหาของประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีนักวิจัยบางส่วนเน้นทำวิจัย เพราะต้องการตำแหน่งทางวิชาการ และทุนในการวิจัย จึงละเลยการทำวิจัยในหัวข้อที่ตอบสนองต่อความต้องการของประเทศ 2. ปลูกฝังวัฒนธรรมการวิจัยแก่นักศึกษา โดยเน้นให้นักศึกษามีส่วนร่วมในการวิจัย เพื่อให้เห็นถึงความสำคัญของการทำวิจัย และ 3. บูรณาการการสอนพร้อมงานวิจัย โดยให้งานวิจัยเป็นตัวสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้แก่นักศึกษา.
อ่านต่อที่ : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 5 พฤศจิกายน 2558