ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ อดีตโฆษกคณะกรรมาธิการปฏิรูปการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า ตนเห็นร่างโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ใหม่ ซึ่งจะมีปลัดกระทรวงเป็นหัวหน้าส่วนราชการที่เป็นระดับ 11 เพียงคนเดียว และจะสลายองค์กรหลักแตกเป็นกรมที่มีอธิบดี ระดับ 10 เป็นผู้บังคับบัญชาแล้วรู้สึกเป็นกังวล เพราะโครงสร้างดังกล่าวจะทำให้เกิดปัญหาเหมือนเมื่อครั้งมีการปรับโครงสร้างในปี 2542 ซึ่งแม้จะเกิดเอกภาพในเชิงนโยบาย แต่สวนทางกับทิศทางการปฏิรูปประเทศเวลานี้ที่มุ่งกระจายการพัฒนาทุกด้านที่เกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน ทั้งการศึกษา สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม ซึ่งต่อไปการบริหารจัดการต้องกระจายอำนาจลงไปสู่เขตพื้นที่ จังหวัด ดังนั้นการปรับโครงสร้าง ศธ.จึงควรออกแบบในอีกลักษณะหนึ่ง ไม่ใช่แบ่งโครงสร้างการบังคับบัญชาอย่างที่ปรากฏออกมา
"การปรับโครงสร้าง ศธ. หากไม่ระวังจะเกิดผล กระทบรุนแรงต่อการกระจายบทบาทหน้าที่ การสร้างความหลากหลายที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ของเด็กในแต่ละพื้นที่ กลายเป็นว่าที่ผ่านมาเราปรับโครงสร้างจาก 14 องค์ชาย มาสู่ 5 จักรพรรดิ และกำลังจะกลับไปเป็น 10 กว่าองค์ชายเหมือนในอดีต ทั้งนี้ แนวคิดการปฏิรูปการศึกษาที่ สปช.เคยเสนอไว้ ศธ.จะมีโครงสร้างเชิงประสาน มีการวางนโยบาย กำหนดมาตรฐานและกำกับติดตามประเมินผล และรวมถึงการส่งเสริมการประกันคุณภาพ การคุ้มครองผู้เรียน การบริหารตามหลักธรรมาภิบาลเมื่อกระจายอำนาจไปสู่พื้นที่ ซึ่งผมอยากให้รัฐบาล และ ศธ.ทบทวนเรื่องนี้อย่างจริงจัง และขอเรียกร้องให้เปิดเวทีรับฟังความเห็นด้วย" ดร.อมรวิชช์ กล่าว
ด้าน ศ.ดร.ประสาท สืบค้า ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า การปรับโครงสร้าง ศธ. โดยจะแยกสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) มาตั้งเป็นกระทรวงใหม่นั้น ทปอ. เห็นด้วย และเป็นสิ่งที่เหมาะสมที่สุด เพราะตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ สกอ.มาอยู่ภายใต้ ศธ.มีปัญหา ต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งทาง ทปอ.พร้อมจะเข้าไปหารือ และเสนอแนะเรื่องนี้ต่อ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศธ. ทั้งนี้ กระทรวงที่จะเกิดขึ้นใหม่ ควรมีหน้าที่หลักอย่างน้อย 4 ประการคือ 1. เป็นผู้อำนวยความสะดวก 2. เป็นผู้ให้การสนับสนุน 3. เป็นผู้ประสานงานกับกระทรวง หรือหน่วยงานต่าง ๆ และ 4. กำกับดูแลเกณฑ์มาตรฐานต่าง ๆ.
ที่มา เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 6 พ.ย. 2558 (กรอบบ่าย)
Advertisement