ก.ค.ศ.อนุมัติเกณฑ์คัดเลือกผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการสถานศึกษา ในพื้นที่พิเศษ แก้ปัญหาไม่มีผู้บริหารเลือกโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร
วันนี้ (4 พ.ย.) พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เมื่อเร็วๆนี้ ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบร่างหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสถานศึกษา และ ผู้อำนวยการสถานศึกษา สำหรับสถานศึกษาในพื้นที่พิเศษ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยมีหลักเกณฑ์ ดังนี้ ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หรือ สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ แจ้ง สพฐ. พิจารณาเพื่อประกาศให้เป็นสถานศึกษาในพื้นที่พิเศษ โดยให้คำนึงถึงพื้นที่ที่เป็นเกาะ บนภูเขาสูง หุบเขา หรือ เชิงเขา ที่ไม่สามารถเดินทางด้วยพาหนะใดๆได้สะดวกตลอดปี หรือ พื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อความมั่นคงของประเทศ ทั้งนี้ ก่อนการดำเนินการคัดเลือกในแต่ละครั้ง ให้ สพฐ.ตั้งคณะกรรมการ เพื่อกำหนดองค์ประกอบในการพิจารณากำหนดเป็นสถานศึกษาในพื้นที่พิเศษ และในการดำเนินการคัดเลือกผู้บริหารให้ผู้ดำเนินการคัดเลือกประกาศรับสมัครคัดเลือก โดยระบุชื่อสถานศึกษาที่จะใช้บรรจุและแต่งตั้ง กำหนดวัน เวลา และสถานที่ในการคัดเลือกให้ผู้มีสิทธิสมัครเข้ารับการคัดเลือก และต้องสมัครเข้ารับการคัดเลือกในสถานศึกษาได้เพียงแห่งเดียวภายในเขตพื้นที่การศึกษานั้น หากสมัครเกินกว่า 1 แห่ง จะตัดสิทธิ์การคัดเลือกทั้งหมด
"การคัดเลือก จะประเมิน 4 ด้าน คือ 1.ประวัติและประสบการณ์ 2. ประเมินผลการปฏิบัติงานที่ผ่านมาและผลงานที่ภาคภูมิใจ 3.แนวคิดในการพัฒนาสถานศึกษาที่สมัครคัดเลือก และ4. สัมภาษณ์ โดยผู้ผ่านการคัดเลือกต้องผ่านการประเมินทุกด้าน และได้คะแนนในแต่ละด้านไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 เรียงลำดับจากผู้ได้คะแนนรวมสูงสุดจากมากไปหาน้อย พร้อมให้บรรจุและแต่งตั้งผู้ได้รับการคัดเลือกที่มีคะแนนสูงสุดและมีคุณสมบัติตรงตามมาตรฐานตำแหน่ง และผ่านการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กำหนด โดยไม่มีการขึ้นบัญชี และหากไม่มารายงานตัวตามวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนด ถือว่าผู้นั้นสละสิทธิ์ อีกทั้งผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจะต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ในสถานศึกษานั้นเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 4 ปี นับแต่วันที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้ง" พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าว.
ด้าน นายสุเทพ ชิตวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า หลักเกณฑ์ดังกล่าวก็เพื่อต้องการผู้บริหารให้ไปดำรงตำแหน่งในโรงเรียนที่เป็นพื้นที่พิเศษ หรือ โรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร เพราะที่ผ่านมาไม่มีผู้บริหารคนใดเลือกที่จะไปอยู่ในพื้นที่พิเศษ ซึ่งการปรับหลักเกณฑ์ใหม่นี้ จะช่วยให้มีผู้บริหารมาพัฒนาโรงเรียนในถิ่นทุรกันดารให้มีคุณภาพมากขึ้น.
ที่มา หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2558