"อมรวิชช์" ชี้ร่างโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการใหม่ สวนทางกับการปฎิรูปประเทศ หวั่นเกิดปัญหาซ้ำรอยเหมือนก่อนปฏิรูปการศึกษา ปี 2542
วันนี้ (4พ.ย.) ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ อดีตโฆษกคณะกรรมาธิการปฏิรูปการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า ตนเห็นร่างโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ใหม่ ซึ่งจะมีปลัดกระทรวงเป็นหัวหน้าส่วนราชการที่เป็นระดับ 11 เพียงคนเดียว และจะสลายองค์กรหลักแตกเป็นกรมที่มีอธิบดี ระดับ 10 เป็นผู้บังคับบัญชาแล้วรู้สึกเป็นกังวล เพราะโครงสร้างดังกล่าวจะทำให้เกิดปัญหาเหมือนเมื่อครั้งมีการปรับโครงสร้างในปี 2542 ซึ่งแม้จะเกิดเอกภาพในเชิงนโยบาย แต่สวนทางกับทิศทางการปฏิรูปประเทศเวลานี้ที่มุ่งกระจายการพัฒนาทุกด้านที่เกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน ทั้งการศึกษา สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม ซึ่งต่อไปการบริหารจัดการต้องกระจายอำนาจลงไปสู่เขตพื้นที่ จังหวัด ดังนั้นการปรับโครงสร้างศธ.จึงควรออกแบบในอีกลักษณะหนึ่ง ไม่ใช่แบ่งโครงสร้างการบังคับบัญชาอย่างที่ปรากฎออกมา
“การปรับโครงสร้าง ศธ. หากไม่ระวังจะกลายเป็นโครงสร้างที่เน้นเอกภาพของการบังคับบัญชา ซึ่งจะเกิดผลกระทบรุนแรงต่อการกระจายบทบาทหน้าที่ การสร้างความหลากหลายที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ของเด็กในแต่ละพื้นที่ กลายเป็นว่าที่ผ่านมาเราปรับโครงสร้างจาก 14 องค์ชาย มาสู่ 5 จักรพรรดิ์ และกำลังจะกลับไปเป็น 10 กว่าองค์ชายเหมือนในอดีต ทั้งนี้ แนวคิดการปฏิรูปการศึกษาที่ สปช.เคยเสนอไว้ ศธ.จะมีโครงสร้างเชิงประสาน มีการวางนโยบาย กำหนดมาตรฐานและกำกับติดตามประเมินผล และรวมถึงการส่งเสริมการประกันคุณภาพ การคุ้มครองผู้เรียน การบริหารตามหลักธรรมาภิบาลเมื่อกระจายอำนาจไปสู่พื้นที่ ซึ่งปัจจุบันมีหลายจังหวัดได้ริเริ่มเรื่องดังกล่าวและเห็นภาพการทำงานที่เข้มแข็ง มีนักวิชาการมาร่วมพัฒนาการศึกษาเพื่อรองรับเด็กในพื้นที่ของแต่ละแห่งสอดคล้องกับความต้องการแรงงานและการมีงานทำในพื้นที่ และ ข้อเสนอของ สปช. ก็ไม่ได้เน้นจัดการศึกษาตามแท่ง เน้นการจัดการศึกษาตามภารกิจ อย่างไรก็ตาม อยากให้รัฐบาลและ ศธ.ทบทวนเรื่องนี้อย่างจริงจัง และขอเรียกร้องให้เปิดเวทีรับฟังความเห็นด้วย” ดร.อมรวิชช์ กล่าว.
อ่านต่อที่ : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2558