"ดาว์พงษ์" ตรวจการดำเนินนโยบาย "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้" วันแรก มีโรงเรียนนำร่อง 4.1 พันโรง ลั่นปีหน้าต้องเตรียมการให้ดี เพราะจะมีโรงเรียนเข้าร่วมจำนวนมาก ตั้งเป้าครบ 3 หมื่นโรงทั่วประเทศ ด้านเลขาฯ สพฐ.เผยตั้งทีมติดตามผลทุกเดือน นักเรียนขานรับบอกสนุกที่ได้ทำกิจกรรม ด้านนายกฯ พอใจผลตอบรับ หวังใช้ครบทุกโรงปีหน้าเช่นกัน
โรงเรียนวัดถนน ต.โผงเผง อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง จัดกิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ สร้างรอยยิ้มความสุขสนุกสนานให้นักเรียน
ที่โรงเรียนอนุบาลปทุมธานี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) พร้อมด้วย พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) เดินทางตรวจเยี่ยมการเรียนการสอนของโรงเรียนอนุบาลปทุมธานี ซึ่งเป็นโรงเรียนนำร่องตามนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ และเป็นวันแรกของการเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 พร้อมกันทั่วประเทศ
โดย พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าวว่า การจัดกิจกรรมดังกล่าวเชื่อว่าเด็กจะมีความสุข แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ ตนอยากรู้เรื่องผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กว่าจะดีขึ้นหรือไม่ หลังจากที่มีการจัดกิจกรรมตามนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ทั้งนี้ ตนไม่ห่วงโรงเรียนที่เข้าร่วมนำร่องทั้ง 4,100 โรง เพราะเป็นโรงเรียนที่มีความพร้อมและจะไปได้ดี แต่ห่วงโรงเรียนที่จะเข้าร่วมโครงการในปีหน้าซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนมาก ดังนั้นจะต้องเร่งศึกษาโรงเรียนที่บริบทแตกต่างกัน ทั้งนี้ ตนตั้งเป้าไว้ว่าจะขยายให้ได้ 1 หมื่นโรงก่อนเบื้องต้น หากขยายให้ครบทั้ง 3 หมื่นโรงทั่วประเทศในปีการศึกษา 2559 ได้ก็จะเป็นเรื่องดี อย่างไรก็ตาม ต้องตระหนักถึงความพร้อมของครูและโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กที่มีครูจำนวนน้อย อาจจะต้องมีการปรับรูปแบบการจัดการ แต่ยังคงยึดหลักการที่เด็กจะต้องได้ทำกิจกรรมนอกห้องเรียน ดังนั้นจึงมอบให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปดูความพร้อมของโรงเรียน หากโรงเรียนใดที่ครูไม่พร้อม สพฐ.อาจจะต้องมากำหนดรูปแบบการจัดกิจกรรมลงไปช่วย
"การลงพื้นที่ครั้งนี้ทำให้ผมเห็นปัญหาอย่างหนึ่งคือเรื่องของพื้นที่ ถือเป็นข้อจำกัดมากในโรงเรียนที่มีพื้นที่น้อย ก็มอบให้ สพฐ.นำไปศึกษาหาทางออกในการบริหารจัดการกิจกรรมที่ได้รับประโยชน์ ทั้งเฮด ฮาร์ต แฮนด์ และเฮลธ์ ของโรงเรียนพื้นที่น้อยด้วย" รมว.ศธ.กล่าว
ด้าน น.ส.สมทรง รอดแจ่ม ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลปทุมธานี กล่าวว่า ทางโรงเรียนได้นำนโยบายสู่การปฏิบัติ มีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปกครองนักเรียนได้ทราบ และได้รับความร่วมมือจากชุมชน โดยโรงเรียนมีเมนูกิจกรรมให้เด็กเลือก จำนวน 150 เมนู อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาโรงเรียนได้จัดกิจกรรมให้เด็กอยู่แล้ว ทั้งการสอนภาษาจีน ภาษาอังกฤษ คอมพิวเตอร์ และการประดิษฐ์หุ่นยนต์ ซึ่งเคยได้รับรางวัลระดับประเทศมาแล้ว
ขณะที่นายการุณกล่าวว่า สพฐ.จะมีการติดตามประเมินผลเป็น 2 ส่วนคือ ระดับเขตพื้นที่การศึกษาและส่วนกลาง โดยจะมีทีมติดตามผลเดือนละครั้งและพัฒนาควบคู่กันไป จากนั้นเดือนเมษายน 2559 ซึ่งปิดภาคเรียนการศึกษา สพฐ.จะสรุปผลปัญหา อุปสรรคและความสำเร็จของโครงการเพื่อนำเสนอ รมว.ศธ.ก่อนที่จะมีการขยายผลต่อไป
ด.ช.ธิติวุฒิ เกตุเนียม นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ของโรงเรียนอนุบาลปทุมธานี กล่าวว่า รู้สึกสนุกที่ได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมกับเพื่อน ทั้งยังเป็นกิจกรรมที่ให้ความสนใจ และก่อนเลือกกิจกรรมก็จะมีตัวอย่างกิจกรรมเพื่อช่วยในการตัดสินใจเลือก สำหรับตารางเรียนในภาคเรียนที่ 2 ก็ไม่ได้ต่างจากภาคเรียนที่ 1 มากนัก เช่น ภาคเรียนที่ 1 เรียนวิชาภาษาอังกฤษ 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่ในภาคเรียนที่ 2 เรียนวิชาภาษาอังกฤษ 2 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งลดวิชาภาษาอังกฤษเสริมลง เป็นต้น
พลตรีสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ที่เริ่มใช้เป็นวันแรก ได้รับความร่วมมือจากโรงเรียนต่างๆ โดย ศธ.จะส่งชุดสมาร์ทเทรนเนอร์ จำนวน 300 ทีม ลงตรวจประเมินผลทั่วประเทศทุกสัปดาห์ ทุกเดือน และทุก 3 เดือน เพื่อนำข้อมูลกลับมาวิเคราะห์ว่าประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด และมีสิ่งใดที่ควรปรับปรุงแก้ไขบ้าง ส่วนนายกรัฐมนตรีพอใจที่ทุกฝ่ายให้การตอบรับนโยบายดังกล่าวเป็นอย่างดี และต้องการให้ขยายจำนวนโรงเรียนให้ครอบคลุมทุกโรงเรียนหากผลประเมินออกมาดี และยังย้ำว่าการเรียนในห้องเรียกว่าเรียนวิชาการ ส่วนเวลาช่วงบ่ายเรียกว่าเรียนรู้ ซึ่งหมายความว่านอกจากการเรียนในห้องด้านวิชาการเพื่อเพิ่มคุณวุฒิแล้ว เราจะต้องเรียนรู้การปฏิบัติควบคู่กับทฤษฎีไปด้วย จะได้ทำงานและจัดระเบียบความคิดให้เป็นระบบ สร้างสรรค์ ความรู้รอบตัว เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพในอนาคต
ที่จังหวัดปัตตานี ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์โรงเรียนสังกัดเทศบาลเมืองปัตตานี 5 โรง ที่ดำเนินตามนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ เป็นวันแรก ปรากฏว่า ไม่ได้เข้าร่วมกับโครงการดังกล่าว เนื่องจากต้องคอยติดตามดูโรงเรียนนำร่องก่อนว่าเป็นอย่างไร ซึ่งทางโรงเรียนเทศบาลพร้อมที่จะปฏิบัติตามนโยบาย ขณะที่จากการสอบถามครูในพื้นที่เปิดเผยว่า การลดเวลาเรียนของโรงเรียนต่างๆ นั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะเด็กๆ จะได้มีเวลาส่วนตัวในการทบทวนการเรียนที่ผ่านมามากขึ้น โดยเฉพาะการเรียนรู้ภายนอก เช่น เรียนภาษาอาหรับเพิ่ม ซึ่งครูต้องเอื้อประโยชน์และให้เวลากับเด็กด้วย เมื่อเริ่มโครงการนี้ใหม่ ครูต้องติดตาม ต้องเสียสละ ถ้าปล่อยไป เด็กเข้าใจผิด มัวแต่ทำอย่างอื่น เด็กก็จะไม่ได้อะไร.
ที่มา ไทยโพสต์ วันที่ 3 พฤศจิกายน 2558