ตั้งเป้ารวยก่อนแก่
ในชีวิตคนเราเรื่องเงินมีหลายเรื่องที่ต้องจัดการ หลายคนพยายามหาแนวทางการลงทุนเพื่อสร้างมั่งคั่งให้ได้รับผลตอบแทนสูง หรือเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในวัยทำงาน โดยลืมนึกถึงแผนการเงินที่ทุกคนต้องเจอ คือ แผนการเกษียณอายุ ซึ่งปัจจุบันประชากรไทยมีแนวโน้มอายุจะยืนขึ้นเรื่อยๆ ในขณะบางคนอาจจะคิดว่าอีกนานหลายปี กว่าจะถึงวันที่เกษียณอายุ แต่หลายคนที่กำลังจะเกษียณ จะคิดว่า หากเตรียมตัวเสียแต่เนิ่นๆ ชีวิตคงดีกว่านี้ แล้วจะจัดการอย่างไรให้พอดี K-Expert จึงได้เสนอ 3 เรื่องที่ต้องรู้ เพื่อตั้งเป้ารวยก่อนแก่ ดังนี้
1. รู้ตัวเลข…เพื่อตั้งเป้าก่อนเกษียณ
ก่อนที่จะรู้ตัวเลข เพื่อตั้งเป้าก่อนเกษียณ จะต้องทราบข้อมูลเพื่อใช้กำหนดเป้าหมายทางการเงิน ดังนี้
1)ต้องการใช้จ่ายหลังเกษียณต่อเดือนเท่าไร และ 2)จำนวนปีที่จะใช้เงินหลังเกษียณ ซึ่งเป็นข้อมูลที่คาดการณ์ให้ถูกต้องได้ยาก จากการสำรวจค่าใช้จ่ายหลังเกษียณของ K-Expert พบว่า ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณที่จะเกษียณแบบเพียงพอ ควรจะมีอย่างน้อย 15,500 บาทต่อเดือน และจากข้อมูลจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ปี 2556 พบว่า ประชากรไทยเพศชายมีอายุขัยเฉลี่ย 71.1 ปี ในขณะที่เพศหญิงมีอายุขัยเฉลี่ย 78.1 ปี ดังนั้น K-Expert แนะนำให้ใช้จำนวนปีที่จะใช้เงินหลังเกษียณอย่างน้อย 20 ปีขึ้นไป
ดังนั้น จากตัวเลขค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ และจำนวนปีใช้เงินหลังเกษียณ ที่ใช้ในการกำหนดเป้าหมายจะช่วยทำให้ตั้งเป้าหมายทางการเงินได้ใกล้เคียงมากยิ่งขึ้น และควรพิจารณาอัตราเงินเฟ้อเพิ่มเติมให้เหมาะสมในการประเมินจำนวนเงินที่ต้องมี ณ วันที่เกษียณอายุได้ จะทำให้รู้ตัวเลข เพื่อตั้งเป้าก่อนเกษียณได้
2. รู้ทางเลือก...เพื่อสร้างความมั่งคั่งก่อนหยุดทำงาน
ข้อควรรู้อีกเรื่องที่ขาดไม่ได้ คือ รู้ทางเลือกในการออม เพื่อสร้างความมั่งคั่งก่อนหยุดทำงาน แบ่งออกเป็น
1)ทางเลือกแบบจำเป็น (Must) เป็นทางเลือกที่ผู้มีรายได้ประจำอาจมีอยู่ แต่ไม่ทราบสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับเช่น กองทุนประกันสังคม เป็นแหล่งเงินออมภาคบังคับสำหรับผู้มีรายได้ประจำ หรือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ / กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ที่สามารถเลือกสัดส่วนการออมเงินได้ที่มี เพื่อสะสมไว้ใช้ในยามเกษียณ
2)ทางเลือกแบบแนะนำ (Recommend) เป็นทางเลือกที่ผู้มีรายได้ประจำหรือเจ้าของกิจการ สามารถใช้เป็นทางเลือกในการออมเพื่อเกษียณได้ โดยภาครัฐจะใช้มาตรการทางภาษีในการจูงใจให้ออมเงิน เช่น กองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ประกันแบบบำนาญ
3.ทางเลือกตามสไตล์คุณ (Choice) เป็นทางเลือกในการออมต่างๆ เช่น กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) หรือ กองทุนรวมทั่วไป
ดังนั้น ทางเลือกเหล่านี้ จะมีเงื่อนไขในการลงทุน ระยะเวลาในการลงทุน และระดับความเสี่ยงจากการลงทุนที่แตกต่างกัน จะเลือกอย่างไรให้เหมาะสมกับตนเอง เพื่อใช้เป็นแหล่งเงินออมสำหรับเป้าหมายเกษียณได้
3. รู้ทางลง….เพื่อปรับเปลี่ยนแผนพิชิตเป้าหมาย
ข้อควรรู้สุดท้าย คือ รู้ทางเลือก(ในการ)ลง(ทุน) เพื่อปรับเปลี่ยนแผนพิชิตเป้าหมาย หลังจากรู้ตัวเลขของเป้าหมายทางการเงิน และรู้ทางเลือกว่าจะมีแหล่งเงินออมจำนวนเท่าใด จะทำให้ทราบว่าเป้าหมายในการออมเพิ่ม จึงมาสู่ขั้นตอนในการจัดสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะกับระดับความเสี่ยงของตนเอง และเพื่อกำหนดว่าจะต้องนำไปลงทุนในสัดส่วนเท่าไร และมีโอกาสจะบรรลุเป้าหมายรวยก่อนแก่ได้มากหรือน้อยเพียงใด นอกจากหาแผนปฏิบัติการได้แล้วว่าจะออมเท่าไร และลงทุนอย่างไร สิ่งที่สำคัญอีกประการ คือ การติดตามผล ว่าเมื่อดำเนินการตามที่วางแผนไปแล้ว มีผลตอบแทนเป็นไปตามที่คาดหวังหรือไม่ และจะปรับแผนการออมอย่างไรต่อไป เพื่อให้ยังสามารถบรรลุเป้าหมายรวยก่อนแก่ได้เช่นเดิม
ดังนั้น ในการจัดสัดส่วนการลงทุน จะมี 3 ระดับ คือ ระดับความเสี่ยงน้อย ระดับความเสี่ยงปานกลาง และระดับความเสี่ยงสูง ขึ้นอยู่กับความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงจากการลงทุนของแต่ละคน และระยะเวลาในการออมว่ามีมากหรือน้อยเพียงใด เพื่อกำหนดพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสมกับตนเองได้ ที่สำคัญควรหมั่นทบทวนแผนการออมเพื่อให้มีโอกาสบรรลุเป้าหมายรวยก่อนแก่ให้ได้
จะเห็นได้ว่า การตั้งเป้ารวยก่อนแก่ อาจจะดูเป็นหลักการที่หลายๆคนได้ยินหรือได้ฟังกันมาหลายครั้งแล้ว แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การติดตามผล เดินตามแผน หลายคนรู้หลักการ แต่ยังไม่ลงมือทำ หรือ ลงมือทำแล้ว แต่ไม่ติดตามผล จะส่งผลให้เป้าหมายมีโอกาสคลาดเคลื่อนไปจากที่ตั้งใจไว้ได้
ที่มา:K-Expert
ขอบคุณ มติชนออนไลน์ วันที่ 3 พฤศจิกายน 2558