เมื่อเร็วๆ นี้คณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้จัดเสวนา "การสร้างเครือข่ายเพื่อขยายผลการยกระดับคุณภาพการศึกษาขั้น พื้นฐานในระดับจังหวัด" เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ที่ผ่านมา โดยมีนายตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สนช. เป็นประธาน
นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ประธานคณะกรรมการกำกับทิศทางโครงการจังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ได้ตั้งโจทย์การปฏิรูปการศึกษาด้วยการย่อส่วนการจัดการให้เล็กลง จะเป็นไปได้ง่ายกว่าการจัดการทั้งองคาพยพของประเทศ
"การปฏิรูปการศึกษาจังหวัดทำได้ง่ายกว่าระดับชาติ เพราะมีขนาดความรับผิดชอบที่เล็กกว่า จากงบประมาณการศึกษาทั้งประเทศ 6 แสนล้านบาท เป็นจังหวัดละ 7,800 ล้านบาทต่อปี จากเด็กเยาวชน 15.2 ล้านคน เหลือเพียงเฉลี่ยจังหวัดละ 2 แสนคน และจากเด็กด้อยโอกาสทั้งในระบบและนอกระบบการศึกษา 4 ล้านคน เหลือเพียงเฉลี่ยจังหวัดละ 6.4 แสนคน จำนวนครู 6.2 แสนคน เหลือเพียงเฉลี่ยจังหวัดละ 8,200 คน" นพ.ยงยุทธ ระบุ
เหนืออื่นใด รูปแบบการจัดการศึกษาแบบเดิมที่ต่างคนต่างทำก็เปลี่ยนมาเป็นทุกฝ่าย ทั้งภาคการศึกษา ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และภาคเอกชน มาร่วมกันมองในทิศทางเดียวกัน โดยยึดเด็กและเยาวชนเป็นเป้าหมายพร้อมกับใช้ทรัพยากรร่วมกัน ซึ่งจะเกิดพลังอย่างมาก
"รูปแบบการจัดการศึกษาในพื้นที่ สิ่งสำคัญคือ ต้องมีระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษา เพราะในแต่ละปีมีเด็กที่หลุดออกจากระบบถึง 10% ข้อมูลแต่ละจังหวัดจะช่วยให้มีการออกแบบทิศทางการทำงานร่วมกันในแต่ละพื้นที่ รวมถึงการจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำ และการพัฒนาศักยภาพของครูและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อให้เกิดคุณภาพในการจัดการเรียนการสอน โดยเป็นการทำงานในรูปแบบจังหวัดนำร่อง ไม่ควรประกาศทำพร้อมกันทุกจังหวัด เพราะจะได้แค่กลไกแต่ไม่เกิดการมีส่วนร่วมและความเป็นเจ้าของ จึงควรให้การรับรองสถานะจังหวัดที่มีความพร้อม ซึ่งขณะนี้มี 15 จังหวัดนำร่อง โดยมีเป้าหมายต่อไปคือ การพัฒนาให้เกิดสมัชชาการศึกษาจังหวัดและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาจังหวัดที่มีกฎหมายรองรับสถานภาพ เพื่อเป็นหน่วยสร้างการมีส่วนร่วม วางแผนและติดตามทิศทางการขับเคลื่อนของจังหวัด" นพ.ยงยุทธ กล่าว
ขณะที่ภาคเอกชนได้ร่วมสะท้อนถึงรูปแบบการจัดการศึกษาที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการหรือไม่ โดย "ศุภชัย เจียรวนนท์" กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหารบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) สะท้อนว่า การจัดการศึกษาที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการคือ
1.การจัดการศึกษาที่ผู้เรียนมีส่วนร่วม ครูต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้ให้ความรู้ในมิติเดียวเป็นโค้ชผู้ให้คำแนะนำ ภาคเอกชนไม่ต้องการพนักงานที่รับฟังแต่คำสั่ง แต่ต้องการคนที่คิดและปรับใช้เพื่อเสนอแนะสิ่งใหม่ต่อบริษัท สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถสอนแบบท่องจำได้ บทบาทของครูจึงต้องสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้เรียน มองเห็นถึงศักยภาพของเด็กและกระตุ้นศักยภาพนั้นออกมา
2.ยึดกลไกการตลาดเป็นหลัก กรณีของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาฯ ของมาเลเซียที่พยายามนำผลการสอบของทุกโรงเรียนมาเปิดเผยบนอินเทอร์เน็ต เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในกลไกการศึกษา หากมีการเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้สู่สาธารณะกลไกตลาดจะตื่นตัว ครูใหญ่จะตื่นตัวต่อการบริหารโรงเรียน เพราะจะเกิดการแข่งขันระหว่างโรงเรียน และยังสามารถดึงการมีส่วนร่วมของชุมชน ผู้ปกครอง รวมถึงภาคเอกชนที่พร้อมสนับสนุนกองทุนโรงเรียนหากมีการจัดการที่โปร่งใส
และ
3.การยกระดับนวัตกรรม เพราะทิศทางนวัตกรรมของโลกในอีก 20 ปีข้างหน้า ประกอบด้วย ไบโอเทคโนโลยี หรือเทคโนโลยีทางชีวภาพ, นาโนเทคโนโลยี หรือเทคโนโลยีขนาดจิ๋ว, ดิจิทัลเทคโนโลยี และโรบอตติก ซึ่งประเทศไทยมีฐานความรู้ที่ได้รับการยอมรับ หากมีการลงทุนแบ่งงบ 2 หมื่นล้านบาท จากงบการศึกษา 6 แสนล้านต่อปี เป็นเวลา 5 ปี เราจะได้แล็บพื้นฐานที่ทำให้ไทยเป็นฮับในระดับภูมิภาคทางการศึกษา ซึ่งจะมีหลายประเทศเข้ามาศึกษา และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นสิ่งที่น่าลงทุนเพื่อให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักรายได้ขั้นกลาง พร้อมกันนี้ภาคเอกชนได้ทิ้งท้ายว่า "จุดเปลี่ยนสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาให้สำเร็จคือ ผู้นำต้องให้ความสำคัญและต้องทำอย่างต่อเนื่อง"
ขณะที่ นายตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เสนอว่า การปฏิรูปประเทศไทยให้ประสบผลสำเร็จได้ต้องปฏิรูปการศึกษา โดยมี 3 ยุทธศาสตร์ของการปฏิรูปคือ 1.ปฏิรูปหลักสูตรการเรียนการสอน โดยส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือกับภาคเอกชน วันแรกที่เข้าเรียนต้องหมายถึงโอกาสของการมีงานทำ 2.ปฏิรูปการกระจายอำนาจสู่สถานศึกษา เพราะ ฝ่ายการเมืองหรืออธิบดีก็ไม่อาจทำให้เกิดคุณภาพได้ ครูและผู้บริหารสถานศึกษาเท่านั้นที่จะทำให้เกิดคุณภาพ และ 3.การปฏิรูปกฎหมายเพื่อให้เกิดความยั่งยืน นอกจากนี้บทบาทของอุดมศึกษาต้องโน้มตัวลงสู่ชุมชน ทฤษฎีที่มหาวิทยาลัยสอนต้องมี "พื้นที่" ในการใช้ความรู้เหล่านั้นให้เป็นจริง สิ่งเหล่านี้ต้องทำให้เป็นเครือข่ายเพื่อเสนอต่อภาคนโยบายต่อไป
โดย ทีมข่าวการศึกษา
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก