ในอดีตที่ผ่านมาการทำเกษตรกรรมการปลูกพืชหรือการเลี้ยงสัตว์ล้วนแต่ทำเพื่อพออยู่พอกินเหลือก็เอาไปขายซื้อสิ่งของอย่างอื่นที่ในพื้นที่ของตัวเองไม่มีประกอบกับประชากรในประเทศยังมีไม่มากเหมือนปัจจุบัน ครอบครัวหนึ่งจะมีพื้นที่ถือครองอย่างน้อย 10 ไร่ขึ้นไป
แต่ในปัจจุบันประชากรในประเทศเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ พื้นที่ทางการเกษตรหรือพื้นที่ถือครองลดน้อยถอยลง และกลายเป็นบ้านจัดสรรไปก็มาก พื้นที่ในบริเวณบ้านที่จะปลูกไม้ผลไว้รับประทานก็แทบจะไม่มี เพราะฉะนั้นทุกอย่างไม่ว่าจะเป็น ผักผลไม้ต้องซื้อหาแทบทั้งนั้น เกษตรกรผู้ผลิตผักผลไม้ก็ใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช อย่างไม่ระมัดระวังและเกินความจำเป็น ทำให้ประชาชนทั่วไปที่บริโภคได้รับสารเคมีเหล่านั้นตกค้าง ต้องผจญกับโรคภัยไข้เจ็บและต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมากในการรักษา และรัฐต้องสูญเสียงบประมาณมหาศาลในการนำเข้ายารักษาโรค
ถึงเวลาแล้วที่พวกเราต้องช่วยกันทำให้บ้านเรามีอากาศที่บริสุทธิในการหายใจ มีผลไม้ไว้รับประทานและใช้ประดับไว้บริเวณบ้าน มีผักที่ปลอดภัยจากสารเคมีไว้บริโภคในครัวเรือน ประหยัดรายจ่ายตามแนวพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียง และที่สำคัญยังสร้างบรรยากาศในครอบครัวให้รักใคร่กลมเกลียวในการชื่นชมผลผลิต ดอกและผลที่ได้ร่วมกันปลูก
ประโยชน์ของการปลูกไม้ผลในภาชนะ
-เจริญเติบโตได้เร็วกว่าปลูกลงดินเพราะดินปลูกมีความร่วนซุยและโปร่ง
-ใช้พื้นที่น้อย
-ให้ผลผลิตเร็ว
- ดูแลรักษาด้านโรค แมลง วัชพืช และการห่อผลง่าย
- บังคับออกดอกติดผลได้
- ควบคุมคุณภาพ และรสชาติได้ ดีกว่าปลูกลงดิน
- สามารถเคลื่อนย้าย หรือยกขายทั้งภาชนะได้
- ใช้เป็นไม้ประดับภายในบ้าน
- สร้างบรรยากาศภายในครอบครัว
- ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ มลภาวะ คายออกซิเจน และลดโลกร้อน
ชนิดของไม้ผลที่ปลูกในภาชนะ
ลำไย มะม่วง ลิ้นจี่ ส้ม ส้มโอ มะนาว ขนุน น้อยหน่า มะปราง มะยงชิด ละมุด มะละกอ กล้วย มะดัน ชมพู่ ลองกอง เงาะ มังคุด ทุเรียน เชอร์รี่ มะขาม มะไฟ มะเฟือง ฯลฯ
ภาชนะที่ใช้ปลูก
- วัสดุที่ไม่ใช้ประโยชน์แล้ว เช่น ปีบ กะละมัง ถังน้ำ ตุ่มใส่น้ำ ตุ่มกรองน้ำ หม้อต่างๆ ยางรถยนต์ ฯลฯ - กระถางพลาสติก กระถางดินเผา กระถางโอ่งมังกรราชบุรี วงบ่อซีเมนต์ ฯลฯ
วัสดุปลูก
- ดินดำ (หน้าดิน) 1 ส่วน - แกลบดิบ (เปลือกข้าว) 2 ส่วน - มูลวัว , มูลควาย 1 ส่วน
สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อาจารย์พิชัย สมบูรณ์วงศ์ นักวิชาการเกษตร ชำนาญการพิเศษ ฝ่ายนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในวันและเวลาราชการ
ข้อมูล : facebook: Sanchai Phakudlao
ภาพ : www.kasetporpeang.com
www. welovethaiking.com
www. zen-hydroponics.blogspot.com
ที่มา มติชนออนไลน์