คอลัมน์ QA การศึกษา: ปฏิรูปการศึกษาให้ได้ผล ต้องตั้งต้นจากผลการประเมิน
ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์
ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน)
จากเป้าหมายในการปฏิรูปการศึกษาให้ได้ผล เพื่อผลลัพธ์ปลายทางคือประเทศไทยจะมีเยาวชน บุคลากรคุณภาพมาพัฒนาประเทศชาติของเรา สิ่งนี้คือโจทย์ใหญ่ที่หน่วยงานภาคการศึกษาทุกหน่วยต้องร่วมมือร่วมแรงกันในการพัฒนา ทั้งนี้เป็นที่ทราบกันดีว่า สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. มีบทบาทในการประเมินคุณภาพภายนอก ทำการติดตามตรวจสอบคุณภาพ เพื่อให้ข้อเสนอแนะกับสถานศึกษาในการนำไปใช้พัฒนาให้ได้มาตรฐานสถานศึกษา และรายงานผลการประเมินต่อหน่วยงานต้นสังกัด ซึ่งตลอดระยะเวลาของการดำเนินงาน สมศ. มีเป้าหมายในการสะท้อนผลการจัดการศึกษา โดยดำเนินการผ่านระบบการปฏิบัติงานตามบทบาทหน้าที่ ดังนี้
1. การตรวจสอบคุณภาพผ่านตัวบ่งชี้สมศ. ได้กำหนดตัวบ่งชี้และเกณฑ์การประเมินให้สอดคล้องกับกฎกระทรวง 4 มาตรฐาน โดยสถานศึกษาดำเนินงานภายใต้กรอบนโยบายของหน่วยงานต้นสังกัด มาตรฐานการศึกษา ครอบคลุมกระบวนการบริหารจัดการ กระบวนการการจัดการเรียนรู้ ตลอดจนศักยภาพของผู้เรียน และบริบทของสังคม
2. ประเมินสถานศึกษา และวิเคราะห์ผลการประเมิน สมศ. จะประเมินคุณภาพการจัดการศึกษา การติดตาม การตรวจสอบคุณภาพ และมาตรฐานการศึกษา เพื่อยืนยันผลการดำเนินงานของสถานศึกษาตามสภาพจริง และประเมินคุณภาพการศึกษาด้วยตัวบ่งชี้ตามประเภทของสถานศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ ตามกรอบแนวทางและวิธีการที่ สมศ. กำหนดให้สอดคล้องกับระบบประกันคุณภาพภายใน
3. สะท้อนคุณภาพ เพื่อสะท้อนภาพที่แท้จริงของสถานศึกษา โดย สมศ.จะส่งผลประเมินและข้อเสนอแนะให้หน่วยงานต้นสังกัด และสถานศึกษาให้นำข้อเสนอแนะที่ได้ไปพัฒนาคุณภาพในการจัดการศึกษา เป็นยุทธศาสตร์ในการจัดการศึกษา เพื่อให้ครูผู้สอนสามารถวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็งและปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพของนักเรียน เพื่อหาแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ดียิ่งๆ ขึ้น
4. สถานศึกษานาผลประเมินไปพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพ หลังจากที่สถานศึกษาได้รับการประเมินแล้ว จะได้รับข้อเสนอแนะเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนา ตัวอย่างเช่น สถานศึกษาที่ผู้บริหารนำผลประเมินในรอบแรก และรอบสอง มากำหนดเป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาสถานศึกษา จนทำให้ในการประเมินฯ รอบสามที่ผ่านมา สถานศึกษาได้รับการรับรองคุณภาพระดับดีมาก และผลสัมฤทธิ์ด้านการเรียนรู้ของนักเรียนในโรงเรียนสูงขึ้นตามเช่นกัน
ดังนั้นท่านผู้อ่านคงจะทราบถึงความสำคัญของการประเมินคุณภาพการศึกษา ว่าการประเมินเปรียบเสมือนกระจกที่ช่วยสะท้อนภาพของตนเอง ทำให้ทราบถึงจุดแข็งที่ควรรักษา และจุดอ่อนที่ควรพัฒนา ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างคุณภาพให้ดีขึ้น ขณะเดียวกันการประกันคุณภาพภายในนับเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา โดยมีการประเมินคุณภาพภายนอกเป็นแรงกระตุ้นให้สถานศึกษายกระดับคุณภาพที่ดีขึ้น ทั้งยังเป็นหลักประกันให้ผู้เรียน และสังคมมีความมั่นใจว่าจะได้รับการบริการจากสถานศึกษาตามมาตรฐานที่กำหนด ดังนั้นเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในฟันเฟืองในการปฏิรูปการศึกษาที่ได้ผลนั้น คือ การนำผลการประเมินการศึกษาไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง
ที่มา มติชน วันที่ 2 พฤศจิกายน 2558