(31 ต.ค.58) พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศเป็นอย่างยิ่ง โดยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา หรือซูเปอร์บอร์ดการศึกษาวานนี้ นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาให้เกิดผลชัดเจนต่อเด็กไทยทุกระดับทั้งระยะสั้นและระยะยาว ภายใต้วิสัยทัศน์ "คุณภาพการศึกษาดี ลดความเหลื่อมล้ำ และตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน" โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกระทรวงศึกษาธิการ เร่งรวบรวมและจัดทำฐานข้อมูลสภาพการจ้างงานในปัจจุบันและแนวโน้มความต้องการของตลาดแรงงาน ให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน เพื่อใช้ในการจัดทำแผนผลิตกำลังคนให้สอดคล้องกับความเป็นจริง สามารถรองรับตลาดแรงงานในประเทศ เขตเศรษฐกิจพิเศษ และการเปิดประชาคมอาเซียนปลายปีนี้
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ปรับเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ในการบริหารจัดการการศึกษาขั้นพื้นฐาน คือ นโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ โดยการให้สถานศึกษาปรับลดเวลาเรียนในห้องเรียนลง และเพิ่มเวลาในการทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพ เพิ่มเติมความรู้ และฝึกทักษะต่าง ๆ ให้แก่เด็กมากขึ้น ทำให้เขามีความสมบูรณ์ทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา มีความสามารถในการคิดและแก้ไขปัญหาได้ในอนาคต
ส่วนด้านอาชีวศึกษานั้น เน้นจัดการเรียนรู้ที่ได้ปฏิบัติจริงหรือการศึกษาแบบทวิภาคี โดยสถานประกอบการเข้ามามีบทบาทในการจัดการศึกษามากขึ้นตั้งแต่การวางแผนผลิตกำลังคน มีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ภาคปฏิบัติ ส่งผลให้ผู้เรียนมีเป้าหมายที่ชัดเจน มีทักษะฝีมือที่สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการ และทำงานได้จริงในสถานประกอบการทันทีที่สำเร็จการศึกษา ส่วนสำหรับระดับอุดมศึกษา ได้เน้นผลิตกำลังคนให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการในการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ โดยบัณฑิตของแต่ละสถาบันจะต้องมีความเป็นเลิศตามภารกิจที่สถาบันกำหนดเป้าหมายไว้
"นายกฯ ต้องการให้ปฏิรูปการศึกษา เพื่อให้เด็กไทยทุกคนได้มีโอกาสรับการศึกษาที่ดีที่สุด ได้เรียนรู้อย่างมีความสุข ได้รับการพัฒนาครบทั้ง 4H คือ Head, Heart, Hand, Health และเน้นว่าการพัฒนาต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ ปลูกฝังให้เด็กมีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย พึ่งพาตนเองได้ และคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้ทำงานอย่างมีความสุข รวมทั้งเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา สร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก และรัฐเป็นผู้สนับสนุนตามแนวทางประชารัฐ" พล.ต.สรรเสริญกล่าว
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 31 ตุลาคม 2558