ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
รายงาน
2 เดือนนับจากนี้ จะถึงเดดไลน์มาตรการอัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้า เม็ดเงินกว่า 1.36 แสนล้าน ของทีมเศรษฐกิจ-ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เพราะต้องเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคมศกนี้
ยิ่งระยะเวลากระชั้น-กระชับขึ้น กลิ่นความไม่ชอบมาพากล ยิ่งส่งกลิ่นแรงไต่ระดับสูงขึ้น โดยเฉพาะโครงการตำบลละ 5 ล้านบาท ที่มีกระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพ เมื่อมีเสียงอื้ออึงในกระทรวงมหาดไทยถึงการ "ใช้เงินผิดวัตถุประสงค์"
ตอกย้ำด้วย "แกนนำขั้วตรงข้าม" - จตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ออกมาระบุว่ามีการ "หักหัวคิว" ในโครงการตำบลละ 5 ล้านบาท
จน "บิ๊กป๊อก"- พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ออกมาส่งเสียงดัง ๆ ว่า "รัฐบาลนี้ถึงแม้ไม่เก่ง แต่ก็ไม่โกง"
อย่างไรก็ดีที่ผ่านมามี "หนังสือด่วนที่สุด" ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เรื่อง การดำเนินการมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล (ตำบลละ 5 ล้านบาท) ตั้งแต่สมัยอธิบดีกรมการปกครองคนเก่า-กฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย คนปัจจุบัน และอธิบดีกรมการปกครองคนปัจจุบัน-อาทิตย์ บุญญะโสภัต รวมกันถึง 8 ฉบับ ถึง ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด
เน้นย้ำแนวทางปฏิบัติของโครงการตำบลละ 5 ล้านบาท เพื่อให้การดำเนินงานโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้ ภายใต้การมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน
ล่าสุดการประชุมคณะ รัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั่งหัวโต๊ะ มีมติรับทราบคำสั่งคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ที่ 18/2558 ที่มี พล.อ.ชาตอุดม ติตถะสิริ เป็นประธาน เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คตร.ประจำกลุ่มกระทรวง จำนวน 6 คณะ
ประกอบด้วย 1.คณะอนุกรรมการ คตร.ประจำกลุ่มกระทรวงด้านความมั่นคง รับผิดชอบในการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงแรงงาน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ และสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) มี "พล.ท.ธนกร จงอุตส่าห์" เป็นประธาน
2.คณะอนุกรรมการ คตร. ประจำกลุ่มกระทรวงด้านเศรษฐกิจ 1 รับผิดชอบในการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของกระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย มี "พล.ท.เดชา เดชะชาติ" เป็นประธาน
3.คณะอนุกรรมการ คตร. ประจำกลุ่มกระทรวงด้านเศรษฐกิจ 2 รับผิดชอบในการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน มี "พล.ท.วิบูล ขยันกิจ" เป็นประธาน
4.คณะอนุกรรมการ คตร. ประจำกลุ่มกระทรวงด้านสังคมจิตวิทยา รับผิดชอบในการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงสาธารณสุข มี "พล.ท.ไชยพร รัตแพทย์" เป็นประธาน
5.คณะอนุกรรมการ คตร. ประจำกลุ่มกระทรวงด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมและอื่น ๆ รับผิดชอบในการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ อาทิ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ มี "พล.ท.สรชัช วรปัญญา" เป็นประธาน
6.คณะอนุกรรมการ คตร. ประจำกลุ่มกระทรวงด้านต่างประเทศและกิจการอื่นๆ รับผิดชอบในการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ และหน่วยงาน/ส่วนราชการอื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้า คสช. มี "พล.ต.อาทิตย์ วัฒนะบุตร" เป็นประธาน
สำหรับอำนาจหน้าที่ ได้แก่ 1. ติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ ของกระทรวง รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ในความรับผิดชอบให้เป็นไปด้วยความโปร่งใส และถูกต้องภายใต้กรอบงบประมาณของรัฐ ควบคู่กับการติดตามและตรวจสอบตามปกติของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ โดยมุ่งเน้นแผนงานหรือโครงการที่สำคัญ ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาล ที่มีผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชนและการพัฒนาประเทศ
2.ติดตามและเร่ง รัดการใช้จ่ายงบประมาณของกระทรวง รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐในความรับผิดชอบ ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนด
3.เข้าไปในสถานที่ของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของรัฐ หรือสถานที่อื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ในการติดตามและตรวจสอบข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน ที่เกี่ยวข้อง
4.เชิญข้าราชการ บุคคล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงหรือส่งเอกสารให้ตามความเหมาะสม
ให้คณะอนุกรรมการ คตร. ประจำกลุ่มกระทรวง รายงานผลการดำเนินการให้ คตร.ชุดใหญ่ เพื่อพิจารณาและเสนอแนะความเห็นให้ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. เพื่อพิจารณาต่อไป
ประกอบกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 มาตรา 123/2 บัญญัติว่าบทลงโทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิตกับข้าราชการรับสินบน
"ผู้ ใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสําหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทําการหรือไม่กระทําการอย่างใดในตําแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจําคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท หรือประหารชีวิต"
เป็นการต่อแขน-ขา เพิ่ม "ตัวช่วย" ใช้อาวุธที่มีอยู่ในมือสอดส่องข้าราชการนอกลู่นอกทางมากขึ้น ในช่วงโค้งปากเหวก่อนลงจากอำนาจปี′60
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 31 ตุลาคม 2558