ยูเนสโก-โออีซีดี ชี้การศึกษาไทยยังต้องเร่งพัฒนา พบหลักสูตรเขียนอย่างดี แต่ครูปฏิบัติไม่ได้ ตั้งข้อสังเกตข้อสอบระดับชาติยังไม่สมบูรณ์แบบ แนะใช้พิซาเป็นต้นแบบ “กมล” เตรียมนำจุดอ่อนใช้วางแผนพัฒนาการศึกษาชาติ
วันนี้ (29 ต.ค.) ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยว่า ตามที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ได้วิเคราะห์สภาพปัญหาการศึกษาของประเทศไทย โดยดำเนินการตั้งแต่ปี 2557-2558 นั้น ขณะนี้ผลการวิเคราะห์ได้ดำเนินการเสร็จสิ้น และรายงานผลมายัง สกศ. แล้ว ซึ่งภาพรวมพบว่า ระบบการศึกษาของไทยยังพัฒนาไม่ถึงขีดที่จะสร้างคนไทยให้มีความสามารถ และทักษะการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 โดยเมื่อพิจารณาด้านหลักสูตร พบว่า ประเทศไทยมีหลักสูตรที่ไม่สอดคล้องกับเป้าหมายของการจัดการศึกษา โดยหลักสูตรในอนาคตต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าต้องการสร้างคนเป็นแบบใด และวางหลักสูตรให้เป็นแบบนั้น รวมทั้งต้องสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ไม่ใช่ร่างขึ้นเอง และต้องมีข้อเสนอแนะให้ครูด้วย ไม่ใช่เขียนแผนอย่างดี แต่ครูทำไม่เป็น และนำไปปฏิบัติจริงไม่ได้ ส่วนด้านการประเมินผลนักเรียน พบว่า ครูผู้สอนยังขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องการประเมินผล ยังออกข้อสอบตามใจครูอยู่
“ยูเนสโก และโอออีซีดี ตั้งข้อสังเกตว่าข้อสอบมาตรฐานระดับชาติของไทย ยังไม่ได้รับการพัฒนาให้สมบูรณ์แบบ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดผลเชิงลบต่อการศึกษาในภาพกว้าง จึงอยากให้ศึกษาการทดสอบมาตรฐานระดับสากล เช่น การประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือพิซา เป็นต้น เพื่อนำมาใช้พัฒนาการประเมินผลมาตรฐานระดับชาติให้เป็นสากล และสะท้อนผลสัมฤทธิ์ที่แท้จริงของนักเรียน” ดร.กมล กล่าวและว่า ขณะที่ด้านครูและผู้บริหารโรงเรียน พบว่า การบริหารบุคลากรครูยังขาดประสิทธิภาพ การบรรจุครูเข้ายังมีปัญหา การเตรียมความพร้อมครูก่อนเข้าสู่วิชาชีพ และการพัฒนาศักยภาพครูยังไม่ต่อเนื่อง ดังนั้นไทยควรจัดทำยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อมครูก่อนเข้าสู่วิชาชีพ และส่งเสริมให้ครูปฏิบัติการสอนในชั้นเรียนเพิ่มขึ้น ส่วนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา พบว่า แต่ละรัฐบาลพยายามให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ แต่ในทางปฏิบัติพบว่าการใช้เทคโนโลยีแต่ละโรงเรียนมีความแตกต่างกันมาก โดยไทยมักลงทุนแต่อุปกรณ์ แต่เรื่องเนื้อหา การบำรุงรักษา และการพัฒนาครูยังลงทุนน้อย อย่างไรก็ตามผลการวิเคราะห์ดังกล่าว ทำให้เราเห็นจุดอ่อนที่ต้องแก้ไข ซึ่ง สกศ. จะนำเสนอต่อ รมว.ศึกษาธิการ และนำไปใช้ในการวางแผนพัฒนาการศึกษาชาติต่อไป.
อ่านต่อที่ : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 29 ตุลาคม 2558