ธนาคารออมสิน ห่วงหนี้เสียแตะ 8 หมื่นล้านบาท เร่งจัดการหนี้สินครู
แหล่งข่าวกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้กระทรวงการคลังได้สั่งให้ธนาคารออมสินเร่งแก้ปัญหาหนี้เสียจากการปล่อยสินเชื่อครูเป็นการเร่งด่วน หลังจากที่มีการประเมินว่าจะเกิดเป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้นจำนวนมาก จนจะส่งผลกระทบต่อฐานะและผลการดำเนินงานของธนาคารปีนี้ได้
ปัจจุบันธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อครูเป็นวงเงินกว่า 5 แสนล้านบาท แต่ในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจไม่ดี ทำให้มีการประเมินว่าหากไม่เร่งดำเนินการใดๆ ยอดหนี้เสียครูอาจเพิ่มได้ถึง 8 หมื่นล้านบาท และผลจากหนี้เสียดังกล่าวจะกระทบต่อการตั้งสำรองหนี้เสียที่ค้างชำระเกิน 3 เดือน
ทั้งนี้ คาดว่าในเดือน พ.ย. 2558 ต้องตั้งสำรอง 8,000 ล้านบาท และในเดือน ธ.ค. 2558 อีก 1.9 หมื่นล้านบาท รวมเป็นเงินต้องตั้งสำรอง 2.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งมากกว่ากำไรทั้งปีของธนาคารออมสิน ซึ่งตอนนี้มีอยู่ 1.5-1.6 หมื่นล้านบาท
“กระทรวงการคลังได้เร่งให้ธนาคารออมสินแก้ปัญหาดังกล่าวเป็นการด่วน ก่อนที่ปัญหาจะลุกลามมากกว่านี้ โดยที่ผ่านมาธนาคารออมสินอาจไม่ได้ติดตามเรื่องนี้อย่างที่ควรเป็น เพราะไปทำงานด้านอื่นมากเกินไป ซึ่งทางผู้บริหารได้รายงานปัญหาดังกล่าวให้คณะกรรมการรับทราบแล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างหาทางแก้ไข” แหล่งข่าวเปิดเผย
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารได้ขยายเวลาลงทะเบียนตามมาตรการเพื่อช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาหนี้สินครู จากสิ้นสุดวันที่ 31 ก.ค. 2558 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 ต.ค. 2558 ซึ่งตั้งแต่เริ่มเปิดรับลงทะเบียนจนถึงวันที่ 20 ต.ค. 2558 มีครูและบุคลากรทางการศึกษาลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการกว่า 3.33 หมื่นราย จำนวนเงิน 4.98 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีครูและบุคลากรทางการศึกษาอีกจำนวนหนึ่ง ที่ยังไม่ได้ยื่นขอเข้ามาตรการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหา ในเรื่องนี้ธนาคารออมสินได้หารือกับกระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) แล้วว่า สำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีหนี้ค้างชำระ แต่ไม่ยื่นเรื่องขอเข้าร่วมมาตรการดังกล่าว ธนาคารจึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการฟ้องร้องตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป
สำหรับมาตรการช่วยเหลือที่ออกมานี้ แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่อยู่ในขั้นวิกฤต 2.กลุ่มลูกหนี้ใกล้วิกฤต 3.กลุ่มลูกหนี้ที่มีหนี้ค้างชำระไม่เกิน 12 งวดติดต่อกัน และ 4.กลุ่มลูกหนี้ปกติ คือลูกหนี้ที่ยังไม่ได้ผิดนัดชำระ และสามารถบริหารจัดการหนี้ได้ ธนาคารให้พักชำระเงินต้นไม่เกิน 2 ปี แต่ให้ชำระดอกเบี้ย
ที่มา โพสต์ทูเดย์ วันที่ 26 ตุลาคม 2558