จี้ศธ.คิดใหม่ใช้'ตั๋วครู'จำกัดสถาบันผลิต ปธ.ส.ค.ศ.ท.มั่นใจเกณฑ์คุรุสภาดีแล้ว
นายสุรวาท ทองบุ คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ในฐานะประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) เปิดเผยกรณีที่ นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะนำเรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์การรับรองปริญญาเสนอต่อคณะกรรมการคุรุสภา ที่คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ควรกำหนดว่าจบแล้วมีกี่เปอร์เซ็นต์ที่ได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ทั้งในสถานศึกษารัฐ และเอกชน หากไม่ถึงตามเกณฑ์ที่กำหนด คุรุสภาจะไม่รับรองปริญญา เพื่อแก้ไขปัญหาครูไม่มีคุณภาพว่า คุรุสภาได้ปรับเกณฑ์รับรองใบอนุญาตฯตามข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพ พ.ศ.2556 ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2556 ให้เข้มข้นขึ้น โดยสถานศึกษาที่ผลิตครูจะต้องมีหลักสูตรที่ครอบคลุม มีศักยภาพเพียงพอที่จะผลิตครูที่มีคุณภาพสู่สังคม ซึ่งตนคิดว่าคุรุสภาเดินมาถูกทางแล้วในเรื่องของการควบคุมมาตรฐาน
"ที่ นพ.กำจรตั้งข้อสังเกตว่าขณะนี้มีผู้ที่เรียนครูมากเกินความต้องการ อย่างการผู้สอบครูผู้ช่วยแต่ละครั้งมีกว่า 1 แสนคนนั้น มีบัณฑิตที่จบหลักสูตรทางการศึกษา 5 ปี ที่ได้รับการรับรองจากคุรุสภากว่า 30,000 คน ที่เหลือเป็นครูเทียบโอนความรู้ ป.บัณฑิตวิชาชีพครูนั้น ผู้จบครูกว่า 1 แสนคนไม่ได้เป็นผู้ว่างงาน แต่อาจไปเป็นครูเอกชน ครูจ้างสอน ครูอัตราจ้างที่ไม่มีความมั่นคงในวิชาชีพ จึงต้องการเปลี่ยนสถานะเป็นข้าราชการครู ซึ่งผมมั่นใจว่าบัณฑิตที่จบหลักสูตรทางการศึกษา 5 ปี มีงานทำไม่ต่ำกว่า 80% อย่างแน่นอน จึงอยากให้ ศธ.ทำความเข้าใจใหม่ว่าคนที่มาสอบครูผู้ช่วยไม่ได้เป็นคนว่างงานเสมอไป" นายสุรวาทกล่าว
นายสุรวาทกล่าวอีกว่า สำหรับรายงานผลการวิจัยเรื่องจะปฏิรูปการศึกษาไทยให้ก้าวทันโลกในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างไร ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ที่มีข้อเสนอของผู้วิจัยให้ยุบคณะสาขาวิชาที่ผลิตครูในมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่มีอยู่ 103 แห่ง ให้คัดเลือกเฉพาะคณะที่มีคุณภาพสูงมาเป็นสถาบันฝึกหัดครู 5 แห่งนั้น ต้องศึกษาดูรายงานการวิจัยให้ชัดเจนกว่านี้ เพราะไทยยังต้องการครูปีละแสนกว่าคน เนื่องจากแต่ละปีมีครูเกษียณค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม ส.ค.ศ.ท.ได้รณรงค์ให้สถานศึกษารับผู้เรียนในจำนวนที่เหมาะสม และเพิ่มความเข้มข้นในการผลิตครูให้มีคุณภาพ
ที่มา มติชน วันที่ 26 ตุลาคม 2558