รมว.ศึกษาธิการ เตรียมรายงานนโยบายเดินหน้าลดเวลาเรียน และยกระดับภาษาอังกฤษ ให้ซูเปอร์บอร์ดทราบ เล็งปรับโครงสร้าง ศธ.แยกกรมวิชาการออกจาก สพฐ.
วันนี้ (26ต.ค.)พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการ นโยบายและพัฒนาการศึกษา หรือ ซูเปอร์บอร์ดการศึกษาที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในวันที่ 30ต.ค.นี้ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะนำเรื่องนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ การพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ การโอนอาชีวศึกษาเอกชนมาอยู่กับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) และการปฏิรูปการศึกษา ให้ที่ประชุมรับทราบ ซึ่งขณะนี้ตนมีแผนอยู่ในใจแล้วว่า จะปฏิรูปอะไรอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพ ซึ่งมีทั้งการปฏิรูประบบการจัดการศึกษา การปฏิรูประบบริหาร การปฏิรูปคน การปฎิรูประบบงบประมาณ และการปฏิรูปโครงสร้าง ซึ่งส่วนหนึ่งตนได้รับข้อเสนอจากทั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มารวมกับสิ่งที่ ศธ.คิดอย่างไรก็ตามในส่วนของการปฏิรูปโครงสร้างขณะนี้ยังไม่ลงตัว คงต้องหารือร่วมกับผู้บริหารองค์การหลักของ ศธ.เพื่อหาข้อสรุปก่อน
“ยอมรับว่ามีแนวคิดที่จะปรับโครงสร้าศธ.จริง แต่ผมไม่ได้นึกคิดไปเอง เป็นข้อเสนอของคนใน ศธ.ซึ่งมีการเสนอมาหลายรูปแบบ แต่ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป โดยมีสิ่งหนึ่งที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันคือ ควรจะยกระดับสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษาในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แยกออกมาจาก สพฐ.เป็นกรมวิชาการเหมือนในอดีต ซึ่งผมได้ตั้งคำถามกลับไปว่า มีเหตุผลความจำเป็นอะไรถึงต้องกลับมาเป็นเหมือนเดิม ก็ได้คำตอบ ว่า เมื่อมีนโยบายหนังสือเสรี ก็มีสำนักพิมพ์เอกชนเข้ามาแข่งขันเนื้อหาในหนังสือเรียน แม้จะมีการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานโดย สพฐ.ก็ตาม แต่ก็ยังมีความแตกต่างมีไขมันส่วนเกินเพื่อดึงดูดให้เลือกซื้อหนังสือเรียนจากนักพิมพ์ของตนเองจึงต้องการให้ฟื้นกรมวิชาการขึ้นมาดูแล” รมว.ศึกษาธิการกล่าวและว่า นอกจากนี้ยังมีเรื่องการปรับโครงสร้างของ สอศ. ที่จะรวมภารกิจของอาชีวศึกษาเอกชนเข้ามาด้วย ส่วนองค์กรหลักอื่น ๆ อย่าเพิ่งให้ตอบในตอนนี้ เพราะการปรับโครงสร้างต้องเกี่ยวพันกันไปทั้งหมด แต่ขณะนี้ยังไม่แน่ใจว่าจะปรับโครงสร้างทั้งหมดหรือเฉพาะจุด.
อ่านต่อที่ : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 26 ตุลาคม 2558