ปฏิรูปการศึกษาให้ได้ผล...ต้องปฏิรูปคน..(ครู)..ให้ได้ก่อน
กลิ่น สระทองเนียม
แม้ว่าการศึกษา...จะเป็นอาวุธลับสำคัญในการพัฒนาคน แต่เรากลับใช้อาวุธลับนี้ไม่ค่อยได้ผลมากนักทั้งที่ศักยภาพของคนไทยไม่ได้แพ้ชาติใดในโลกเลยที่เป็นเช่นนี้น่าจะมาจากการกำหนดเป้าหมายและวิธีการพัฒนาไม่สอดคล้องกับบริบทของไทยที่มีความโดดเด่นทั้งอัตลักษณ์ วิถีชีวิต วัฒนธรรม ความเชื่อรวมถึงทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ ที่ชาติอื่นเขาไม่มีหรือมีก็สู้เราไม่ได้
แต่การปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมากลับไปคิดเลียนแบบต่างชาติ มาดำเนินการ ผลที่ได้ก็คือเด็กให้ความสำคัญแต่วิชาการมุ่งไปที่ ปริญญาหวังได้ทำงานในห้องแอร์ โดยไม่ใส่ใจทักษะชีวิต ทักษะวิชาชีพ คุณลักษณะความเป็นไทยอันดีงามที่สืบทอดกันมายาวนาน นอกจากนั้นยังขาดการเอาจริงเอาจังกับการปฏิรูปคนที่จะเป็นฟันเฟืองทำให้คุณภาพการศึกษาขับเคลื่อนได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงซึ่งก็สอดคล้องกับความเห็นของหลายฝ่ายที่ว่าหากต้องการปฏิรูปการศึกษาให้ได้ผลต้องปฏิรูปคนให้ได้ก่อน ซึ่งคนในที่นี้ก็นับตั้งแต่ผู้บริหารทุกระดับฝ่ายสนับสนุนทุกภาคส่วนรวมถึงฝ่ายปฏิบัติในพื้นที่ทุกตำแหน่ง แต่คนที่ต้องรับภาระหนักกว่าทุกฝ่ายแถมเวลาคุณภาพการศึกษาตกต่ำต้องกลายเป็นจำเลยแรกเลยก็คงหนีไม่พ้น "ครู" เพราะมีหน้าที่พัฒนาผู้เรียนโดยตรงนั่นเอง ซึ่งสิ่งที่ถูกกล่าวหาก็คือ "ขาดคุณภาพ" ซึ่งปัญหาคุณภาพครูที่ว่านี้จริง ๆ แล้วจะไปโทษครูฝ่ายเดียวก็ไม่ถูก ต้องไปโทษระบบตั้งแต่ "การผลิต การใช้ การพัฒนา และ มาตรการให้คุณให้โทษ" เพราะที่ผ่านมาระบบดังกล่าวทำกันแบบไร้ทิศทางจนกลายเป็นไร้ประสิทธิภาพ หากต้องการให้ได้ครูดีมีคุณภาพก็จะต้องปฏิรูประบบที่ว่านี้กันใหม่ ตั้งแต่ระบบการผลิตครู น่าจะต้องมีสถาบันผลิตครูโดยตรง เช่นเดียวกับสถาบันผลิตแพทย์ หากยังปล่อยให้สถาบันอุดมศึกษา ทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีอยู่เป็น 100 แห่งนี้ แข่งขันกันผลิตที่เน้นแต่ด้านปริมาณอยู่เช่นนี้ คงจะหาครูดีมีคุณภาพเข้าสู่ระบบได้ยาก การมีสถาบันผลิตครูที่ได้มาตรฐาน
มีความพร้อมทั้งด้านจำนวนและความเชี่ยวชาญของคณาจารย์ และมีกระบวนการผลิตแต่ละสาขาอย่างเข้มข้นก็น่าจะทำให้เกิดผลทั้งคุณภาพครูและคุณภาพเด็กตามมา เช่น ครูปฐมวัย ก็น่าจะต้องผ่านการผลิตจากสถาบันเฉพาะทางโดยตรงอาจเป็นสถาบันทางการแพทย์ที่มีความชำนาญด้านนี้ก็ได้ซึ่งจะทำให้ได้ครูมีทักษะพร้อมไปดูแลพัฒนาเด็กปฐมวัยได้ทั้งระบบ หรือ กรณีโรงเรียนพื้นที่พิเศษและโรงเรียนขนาดเล็ก การที่จะไปจัดการศึกษาเหมือนโรงเรียนทั่วไปคงจะยากเพราะขาดความพร้อมทุกด้าน เด็กก็มีน้อย ครูไม่พอสอนครบชั้น ครูจึงต้องเข้าใจในการพัฒนาเด็กบริบทดังกล่าวและต้องเป็นผู้มีอุดมการณ์ คุณธรรม พร้อมสู้อยู่กับเด็ก ไม่ใช่เก่งวิชาการแต่ไร้อุดมการณ์ได้บรรจุแล้วก็ขอย้าย ส่วนนี้จึงต้องมีสถาบันผลิตครูสำหรับบริบทดังกล่าวโดยตรงเมื่อจบแล้วให้ไปเป็นครูอัตราจ้างก่อน 2 ปีโดยทำข้อตกลงในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน หากทำงานบรรลุเป้าหมายก็บรรจุให้เป็นครูและต้องอยู่โรงเรียนนั้นต่ออีกอย่างน้อย 3 ปี หากทำได้เช่นนี้ก็จะทำให้คุณภาพผู้เรียนดีขึ้นและผ่อนคลายการขาดแคลนครูโรงเรียนขนาดเล็กลง
ระบบการสรรหาและการใช้คงต้องมาปรับระบบกันใหม่ตั้งแต่วิธีการสรรหาเพราะหากยังใช้ข้อสอบปรนัยคัดเลือกอยู่เช่นนี้ความหวังที่จะได้ครูมืออาชีพนั้นคงยากด้วยข้อสอบไม่สามารถวัดอุดมการณ์คุณธรรมได้เลย จึงน่าจะต้องมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่สรรหาครูโดยตรงเพื่อให้เกิดระบบการคัดกรองที่มีประสิทธิภาพ มีความเข้มข้นในการคัดเลือก ให้ได้ครูพร้อมไปพัฒนาเด็กในแต่ละบริบท หรือไม่ก็ใช้วิธีการสรรหาคนดี คนเก่ง มีอุดมการณ์ในท้องถิ่นเข้าโครงการผลิตครูมืออาชีพเมื่อจบแล้วส่งไปบรรจุท้องถิ่นของตนเอง หรือหากยังเห็นว่าระบบการสอบควรอนุรักษ์ไว้ก็ให้จัดสอบภาคความรู้ขึ้นบัญชีไว้เหมือนการสอบภาค ก. ของ ก.พ. แล้วให้สิทธิใช้ได้ 3 ปี เพื่อนำไปสมัครคัดเลือกระดับโรงเรียนโดยมีคณะกรรมการสถานศึกษาเป็นผู้ดำเนินการ หากทำได้เช่นนี้โรงเรียนก็จะได้ครูตรงกับความต้องการและคณะกรรมการสถานศึกษาก็จะมีบทบาททั้งการสรรหา นิเทศ ติดตาม กำกับ ประเมินผลด้วย ด้านการใช้ครูนั้น ยิ่งต้องเร่งแก้ไขด่วนเพราะทุกวันนี้ครูถูกใช้แบบผิดฝา ผิดตัว เช่น ให้ไปทำหน้าที่พัสดุ การเงิน ธุรการ จัดซื้อจัดจ้าง ตรวจรับพัสดุ ครุภัณฑ์ เมื่อเกิดข้อผิดพลาดด้วยไม่รู้และไม่ใช่หน้าที่ ก็จะปัดความรับผิดชอบไม่ได้ หากรวมถึงอีกสารพัดงานที่ถูกสั่งมาจากหน่วยงานต้นสังกัด นอกสังกัด ด้วยแล้ว เวลาที่จะเหลือให้ครูไปวิเคราะห์เด็ก เนื้อหาหรือออกแบบการจัดการเรียนรู้จึงเป็นได้แค่หลักการ การแก้ปัญหาจึงต้องให้ครูได้ทำหน้าที่พัฒนาผู้เรียนอย่างเดียว ส่วนงานอื่นฝ่ายสนับสนุนต้องดำเนินการเองมิใช่ส่งงานมาให้ครูทำแทนอย่างทุกวันนี้
ระบบการพัฒนา ก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง ด้วยครูที่มีอยู่กว่า 7 แสนรายแม้จะต้องเกษียณอายุราชการเป็นแสนรายภายใน 4-5 ปีข้างหน้านี้ก็ตาม แต่ก็ยังเหลือครูเก่าอยู่ในระบบอีกมาก ซึ่งครูรุ่นเก่าที่ว่านี้ไม่ได้หมายความว่าจะขาดคุณภาพไปทั้งหมด แต่ด้วยรูปแบบ วิธีการที่เคยใช้ได้ผลเมื่อยุค AM และ FM นั้นกับยุค Digital อาจใช้ไม่ได้ผลแล้ว การพัฒนาครูเพื่อพัฒนาเด็กยุคใหม่จึงมีความจำเป็นยิ่ง แต่จากวิธีการพัฒนาครูที่ผ่านมาไม่สามารถตอบโจทย์ที่ว่านี้ได้เลย ด้วยขาดการวางแผน ไม่ได้วิเคราะห์ให้รู้ลึกในข้อมูลในแต่ละบริบท วิธีการก็ยึดติดอยู่กับการอบรม สัมมนา โดยวิทยากรที่ส่วนใหญ่ขายแต่แนวคิดของตนเอง ขาดนวัตกรรม รูปแบบ ที่จะให้ครูไปเป็นต้นแบบเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาเด็กในศักยภาพต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะการจัดที่ซ้ำซ้อนกันจนครูต้องทิ้งห้องเรียนปีละหลายครั้งงบประมาณจึงถูกใช้แบบไม่คุ้มค่า การพัฒนาครูจึงต้องปรับกันใหม่ ทั้งหลักสูตร รูปแบบ นวัตกรรม เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ปัญหาและพัฒนาผู้เรียนในแต่ละบริบท โดยจัดให้มีสถาบันพัฒนาครูขึ้นในแต่ละจังหวัดหรือหากให้สถาบันอุดมศึกษาดำเนินการอยู่ก็ต้องได้รับการรับรองมาตรฐานจากกระทรวงศึกษาธิการก่อน และหลังการพัฒนาจะต้องมีระบบการนิเทศ ติดตาม ประเมินผล ทุกระยะเพื่อนำมาปรับปรุงพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น
ระบบพิทักษ์คุณธรรม ให้คุณ ให้โทษกับผู้เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาถือเป็นอีกความจำเป็นหนึ่ง เพราะที่ผ่านมาไม่ว่าคุณภาพการศึกษาจะตกต่ำ เด็กมีพฤติกรรมไปในทางลบอย่างไร ผู้เกี่ยวข้องก็ไม่ต้องรับผิดชอบ ไม่มีความผิด ไม่กระทบต่อเงินเดือนและความก้าวหน้า ประสิทธิภาพการปฏิบัติงานจึงขึ้นอยู่กับอุดมการณ์เป็นรายบุคคล หากยังปล่อยให้ระบบเป็นไปเช่นนี้ความหวังที่จะเห็นคุณภาพการศึกษาก้าวหน้าทัดเทียมนานาชาติคงเป็นไปได้ยาก จึงต้องมีมาตรการให้คุณให้โทษกับทุกฝ่าย เช่น ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่พิเศษและห่างไกลหรือครูที่พัฒนาผู้เรียนเกิดคุณภาพดียิ่งก็ควรได้รับผลตอบแทนทั้งเงินเดือนและความก้าวหน้ามากขึ้น หากครูไร้ประสิทธิภาพก็ต้องส่งพัฒนาหากไม่ดีขึ้นก็ต้องให้ออกจากระบบ ไม่ใช่ทำดีไม่ดีเงินเดือนก็ห่างกันแค่ครึ่งขั้น วิทยฐานะก็ต้องเสนอขอเอง หลักเกณฑ์ทั้งหลายเหล่านี้คนไร้ประสิทธิภาพก็อยู่ได้ไม่เดือดร้อนแต่ทำให้คนดีพลอยหมดกำลังใจและท้อถอยไปในที่สุด
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างของการปฏิรูปคนที่เน้นไปที่ปฏิรูปครูที่จะต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ ทั้งระบบการผลิต การใช้ การพัฒนา และมาตรการให้คุณ ให้โทษ โดยมีระบบสารสนเทศการใช้ครูทั้งปัจจุบันและอนาคตที่มีประสิทธิภาพ หากระบบครูของชาติทำได้เช่นนี้เชื่อได้เลยว่าไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรครูก็มีความพร้อมรองรับกับการพัฒนาเด็กได้อย่างทันท่วงทีต่อเนื่องและไม่ขาดตอน แต่หากระบบที่ว่านี้ยังเป็นอยู่เช่นเดิมก็อย่าได้ไปคิดเพ้อฝันเลยว่าคุณภาพการศึกษาไทยจะก้าวไกลสู่สากล แค่ไม่ให้ตามก้นจมบ๊วยที่โหล่ในอาเซียนก็บุญโขแล้ว.
ที่มา เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 27 ต.ค. 2558 (กรอบบ่าย)