รมว.ศธ.พบผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็กที่เชียงใหม่
จังหวัดเชียงใหม่ - พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายพร้อมทั้งรับฟังข้อเสนอในการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ 80 โรงเรียน เมื่อวันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม 2558 ที่โรงเรียนบ้านห้วยทราย อำเภอเมืองเชียงใหม่ โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) เชียงใหม่ เขต 1-6, ผู้อำนวยการโรงเรียนขนาดเล็กสังกัด สพป.เชียงใหม่ เขต 1 จำนวน 45 แห่ง, โรงเรียนในสังกัด สพป.เชียงใหม่ เขต 2-6 และศึกษานิเทศก์ เข้าร่วมประชุมประมาณ 100 คน
การจัดการศึกษาของโรงเรียนบ้านห้วยทราย : ใช้ DLTV ในปี 2555 ส่งผลให้คะแนนสอบ O-NET ปี 2557 สูงกว่าเฉลี่ยระดับประเทศทั้ง 6 กลุ่มสาระ
นางมณทิรา ตรีวงศ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยทราย ได้กล่าวรายงานการจัดการศึกษาของโรงเรียนบ้านห้วยทราย ว่า เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ตั้งอยู่ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ มีนักเรียนรวม 90 คน มีครูและบุคลากรทางการศึกษา 6 คน ปัจจุบันเปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยโรงเรียนได้เข้าร่วมโครงการการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม DLTV ในระดับประถมศึกษาทุกชั้นเรียนตั้งแต่ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2555 เป็นต้นมา เพื่อแก้ไขปัญหามีครูไม่ครบชั้นเรียนและครูจบไม่ตรงสาขาวิชาที่สอน นอกจากนี้จะมีการสอนเสริมในแต่ละวิชาภายหลังการจัดการเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม เนื่องจากบางวิชามีความยากอาจทำให้นักเรียนบางส่วนเรียนตามไม่ทัน เช่น วิชาคณิตศาสตร์
โดยในปีการศึกษา 2557 ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาจากผลการทดสอบทางการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับชาติ (O-Net) ของโรงเรียนบ้านห้วยทราย มีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศทั้ง 6 กลุ่มสาระ นอกจากนี้ ในกลุ่มสาระวิชาภาษาไทยและศิลปะยังอยู่ใน 10 อันดับคะแนนสูงสุดของโรงเรียนในสังกัด สพป.เชียงใหม่ เขต 1 ด้วย
มอบนโยบายการขับเคลื่อนคุณภาพการจัดการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็ก
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวแสดงความชื่นชมผู้บริหารโรงเรียนดังกล่าว รวมทั้งโรงเรียนขนาดเล็ก ที่จัดการเรียนการสอนให้กับลูกหลานของเราอย่างเต็มความสามารถ โดยมุ่งหวังให้มีคุณภาพการศึกษาที่ดีขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับความเป็นจริงว่าขณะนี้เรามีโรงเรียนขนาดเล็กอยู่หลายหมื่นแห่งที่ประสบปัญหาการขาดแคลนครู มีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ตลอดจนมีงบประมาณที่จำกัดในการบริหารจัดการ เพราะเป็นค่าใช้จ่ายรายหัวที่เชื่อมโยงกับจำนวนผู้เรียน
การเดินทางมาครั้งนี้ จึงต้องการมารับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะจากผู้อำนวยการโรงเรียน ครู และศึกษานิเทศก์ เพื่อจัดระบบช่วยเหลือดูแลให้การดำเนินงานให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น
โอกาสนี้ รมว.ศึกษาธิการ ได้มอบแนวทางในการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก ดังนี้
1) การขาดแคลนครู เป็นปัญหาหลักของโรงเรียนขนาดเล็กส่วนใหญ่ โดยนอกจากจะต้องจัดสรรให้มีครูครบทุกชั้นแล้ว การบรรจุตำแหน่งทดแทนอัตราเกษียณอายุราชการก็มีความสำคัญ ซึ่งในความเป็นจริงจะมีการขอคืนอัตราเกษียณทั้ง 100% อยู่แล้ว แต่ขอให้มีการจัดสรรครูให้กับโรงเรียนที่มีความขาดแคลนก่อนเป็นอันดับแรก และในขณะนี้มีความแนวคิดที่จะจ้างครูที่เกษียณอายุราชการที่ต้องการสอนหนังสือต่อ โดยอยู่ระหว่างเตรียมหลักเกณฑ์ในการจ้างอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะนำประวัติและผลงานของครูมาเป็นหลักเกณฑ์หนึ่งในการพิจารณา รวมทั้งเร่งดำเนินการจัดหาบุคลากรตำแหน่งธุรการและนักการภารโรงให้โรงเรียนขนาดเล็กต่อไปด้วย
2) การสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ นายกรัฐมนตรีได้มอบให้กระทรวงศึกษาธิการเร่งส่งเสริมการเรียนการสอนและการสื่อสารภาษาอังกฤษของนักเรียนนักศึกษา ตลอดจนพ่อแม่ผู้ปกครอง และประชาชน ซึ่งกำลังพิจารณาแนวทางดำเนินการใน 2 ส่วน คือ
- ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ดำเนินการอยู่แล้วในโรงเรียนต่างๆ แต่ต้องการจะขยายการสื่อสารไปยังพ่อแม่ผู้ปกครองมากขึ้นด้วย โดยอาจใช้วิธีจัดทำป้ายบอกทางเป็นภาษาไทยควบคู่กับภาษาอังกฤษ หรือการรู้คำศัพท์ง่ายๆ ผ่านการทำการบ้านกับบุตรหลาน
- ระดับอุดมศึกษา กำลังหารือกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เกี่ยวกับการออกแบบการประเมินทักษะภาษาอังกฤษในระดับปริญญาตรี เพื่อต้องการให้มีการทดสอบภาษาอังกฤษเพื่อจบการศึกษา แต่หากสอบไม่ผ่านจะจัดอบรมภาษาอังกฤษให้ ก่อนที่จะมีการสอบใหม่อีกครั้ง ทั้งนี้เมื่อออกแบบการประเมินเสร็จแล้ว จะประชาสัมพันธ์ให้นักศึกษาทราบตั้งแต่เข้าเรียนปีที่ 1 ปีการศึกษา 2559 เพื่อให้ได้เตรียมตัวแต่เนิ่นๆ
3) การทบทวนอำนาจหน้าที่ของผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งจะต้องมีความชัดเจนเกี่ยวกับรายละเอียดในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นงานด้านบริหารหรืองานด้านวิชาการ ขอให้มีการรวบรวมมานำเสนอเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา รวมทั้งประเด็นปัญหาขัดข้องของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั้งหมด 225 เขต ที่ได้มอบหมายให้เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานรวบรวมประเด็นในทุกแง่มุม เพื่อหาทางจัดรูปแบบการบริหารงานอย่างเป็นระบบต่อไป
4) นโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ซึ่งมีโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่สมัครเข้าร่วมโครงการถึง 7 แห่ง เนื่องจากเล็งเห็นถึงความสำคัญของการจัดกิจกรรมสร้างเสริมทักษะของนักเรียนทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านสติปัญญา (Head) ด้านทัศนคติ (Heart) ด้านเรียนรู้และปฏิบัติจริง (Hand) ด้านสุขภาพ (Health) ที่จะช่วยให้ผู้เรียนได้รับการพัฒนาทั้งทางด้านวิชาการและทักษะชีวิตที่สมดุลกัน อันจะนำมาซึ่งการทำให้นักเรียนมีความสุข ครูมีความสุข และผู้ปกครองมีความสุข
จึงขอให้โรงเรียนจัดกิจกรรมสร้างเสริมทักษะทั้ง 4 ด้านอย่างมีเป้าหมายและทิศทางที่ชัดเจน ตลอดจนผสมผสานกิจกรรมในแต่ละทักษะให้มีความสมดุลในแต่ละสัปดาห์ โดยโรงเรียนสามารถออกแบบการจัดกิจกรรมได้เองว่าจะเน้นทักษะด้านใดในแต่ละกิจกรรม หรือจะเน้นทุกทักษะภายในกิจกรรมเดียว เช่น กิจกรรมลูกเสือ ซึ่งจะตอบโจทย์เรื่องความมีระเบียบวินัย ความสามัคคี ความเสียสละ ความโอบอ้อมอารี หรือกิจกรรมกีฬาที่จะช่วยฝึกให้เด็กรู้จักการรู้แพ้รู้ชนะ มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ในขณะเดียวกันจะเกิดความผูกพันขึ้นระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง เพราะกีฬาในช่วงบ่ายจะแตกต่างจากการเรียนวิชาพลศึกษาในช่วงเช้า คือจะจัดให้นักเรียนเล่นกีฬาแบบคละชั้น
นอกจากนี้ กิจกรรมการเรียนการสอนของโรงเรียนหลายแห่งก็สอดคล้องกับกิจกรรมของโครงการอยู่แล้ว อาทิ มัคคุเทศก์น้อย โครงการเศรษฐกิจพอเพียง การสอนอาชีพให้นักเรียนบนพื้นที่สูง การสอนเสริมในกลุ่มสาระวิชาต่างๆ ดนตรีไทย กีฬา และศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นต้น
5) การจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ขณะนี้ทางมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมกำลังเตรียมจัดหาวิทยากรและครูที่มีความรู้ความสามารถ มีเทคนิคการสอนที่ดี มาเป็นครูต้นแบบการจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียนต้นทาง เพื่อให้นักเรียนในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการปลายทางได้เรียนกับครูดีครูเก่ง ทั้งนี้ขอให้ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษารวบรวมประเด็นปัญหาอุปสรรคจากการเรียนทางไกล เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการจัดการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
รับฟังและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นจากผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็ก
ในการนี้ รมว.ศึกษาธิการ ได้เปิดโอกาสให้ผู้บริหารให้ข้อเสนอแนะ สภาพปัญหาความต้องการเกี่ยวกับการดำเนินงานโรงเรียนขนาดเล็ก ดังนี้
- งบประมาณ ขอให้มีการจัดสรรงบประมาณให้กับพื้นที่ เพื่อให้โรงเรียนสามารถดำเนินโครงการตามนโยบายและแก้ไขปัญหาตามบริบทของแต่ละพื้นที่ได้
(รมว.ศึกษาธิการ : ต้องยอมรับว่ากระทรวงศึกษาธิการเป็นองคาพยพใหญ่ และมีโรงเรียนกระจายอยู่ทั่วประเทศ ทั้งในพื้นที่ห่างไกล-พื้นที่สูง-ชายขอบ ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องสื่อสารนโยบายหรือแนวทางการทำงานให้ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ที่ใด ได้มีความเข้าใจถูกต้องชัดเจนตรงกันเสียก่อน มิฉะนั้นแต่ละพื้นที่ก็จะบริหารงานตามความรู้สึก ไม่เป็นไปในทิศทางและเป้าหมายเดียวกัน อย่างไรก็ตามขอเวลานี้เป็นช่วงเวลาในการทำความเข้าใจกับคนกระทรวงศึกษาธิการอย่างถ่องแท้ก่อนจะสื่อสารไปยังสาธารณชน จากนั้นจึงจะขับเคลื่อนตาม Road Map การปฏิรูปการศึกษาที่มีแผนงานพร้อมกรอบระยะเวลาในการดำเนินงานที่เชื่อมโยงกันทั้งระบบ รวมทั้งงบประมาณด้วย)
- สร้างแรงจูงใจครูอาสาสมัคร ขอให้มีการสนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับครูอาสาสมัครที่เดินทางไปช่วยสอนให้กับโรงเรียนขนาดเล็กที่ขาดแคลนครู
(รมว.ศึกษาธิการ : ในประเด็นนี้สอดคล้องกับการบริหารงบประมาณของ สพฐ. ที่จะต้องมีการสร้างระบบจัดสรรงบประมาณที่มีความเที่ยงตรงมากขึ้น จึงขอให้คิดกรอบ กติกา และหลักเกณฑ์เพื่อให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายแก่ครูอาสาสมัคร ทั้งค่าพาหนะ ค่าน้ำมัน และความดีความชอบที่ควรจะได้จากความทุ่มเทและเสียสละ)
- การประเมินคุณภาพภายนอก ต้องการให้มีการทบทวนวิธีการประเมินคุณภาพภายนอกของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เพราะยังไม่แน่ใจว่าจะสามารถวัดผลการจัดการศึกษาได้อย่างเที่ยงตรง ซึ่งโรงเรียนขนาดเล็กส่วนใหญ่ก็ยังไม่ผ่านการประเมิน
(รมว.ศึกษาธิการ : ขณะนี้ได้หารือกับ สมศ.เกี่ยวกับการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ (พ.ศ.2559-2563) และได้ให้นโยบายไปแล้วว่า อาจจะต้องมีการแยกประเภทโรงเรียนออกเป็นกลุ่มตามจำนวนนักเรียนและพื้นที่ตั้งโรงเรียน เช่น โรงเรียนในเมืองขนาดใหญ่-กลาง-เล็ก โรงเรียนห่างไกล/ชายขอบขนาดกลาง-เล็ก จากนั้นจึงทำการประเมินและจัดผลคะแนนการประเมินโรงเรียนแต่ละกลุ่ม อาทิ ระดับดีเด่น-ดี-พอใช้ เพื่อให้โรงเรียนในแต่ละกลุ่มซึ่งมีปัจจัยและบริบทที่มีความคล้ายคลึงกันได้มีการแข่งขันกันเองมากขึ้น)
- การขาดผู้อำนวยการโรงเรียน ขณะนี้มีโรงเรียนใน สพป.เชียงใหม่ เขต 6 ที่ไม่มีผู้อำนวยการโรงเรียนถึง 26 แห่ง เนื่องจากไม่สามารถสอบผ่านเกณฑ์ที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กำหนด
(รมว.ศึกษาธิการ : ได้มีการหารือกับ ก.ค.ศ.แล้วว่า อาจจะต้องมีการทบทวนเกณฑ์การสอบคัดเลือกผู้อำนวยการสถานศึกษาและตัวชี้วัดต่างๆ ที่จะต้องมีการประเมินความรู้ความสามารถของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งที่ชัดเจนและสามารถวัดได้เที่ยงตรง แต่จะไม่ให้มีการสอบเลย คงไม่ได้ เพราะผู้ที่จะเป็นผู้อำนวยการ ต้องมีความสามารถรอบด้านและมีหน้าที่ความรับผิดชอบที่สูงกว่ารองผู้อำนวยการเป็นอย่างมาก)
- ครูทวิภาษา ขอให้ช่วยจัดหาครูที่รู้ภาษาถิ่นให้แก่โรงเรียนชายขอบหรือในพื้นที่สูง ซึ่งมีนักเรียนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ เพราะจะสื่อสารกับนักเรียนได้เร็วและเข้าใจกว่าครูที่ไม่รู้ภาษาถิ่น
(รมว.ศึกษาธิการ : มอบให้ สพป.เชียงใหม่ รวบรวมข้อมูลจำนวนความขาดแคลนครูทวิภาษาของโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อจะได้หาทางช่วยเหลือต่อไป)
- หลักเกณฑ์การพักนอน ขอให้มีการทบทวนหลักเกณฑ์การรับนักเรียนเข้าพักนอนในโรงเรียนสังกัด สพป.เชียงใหม่ เขต 6 เนื่องจากโรงเรียนจะต้องรับผิดชอบนักเรียนนอกเขตจำนวนมาก
(รมว.ศึกษาธิการ : มอบ สพฐ.ทบทวนหลักเกณฑ์ กติกา และกระบวนการทั้งหมดอย่างเป็นระบบ พร้อมทั้งประกาศให้ทราบและถือปฏิบัติอย่างต่อเนื่องด้วย)
- หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ควรปรับหลักสูตรให้นักเรียนได้เรียนในกลุ่มสาระที่มีความจำเป็นตามแต่ละช่วงวัย ไม่ควรเรียนมากเกินไป
(รมว.ศึกษาธิการ : ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการกำลังปรับหลักสูตรควบคู่ไปกับการดำเนินโครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ โดยจะตัดกลุ่มสาระที่ไม่จำเป็น หรือที่เป็นไขมันออก แต่ยังคงเวลาเรียนในห้องเรียน 840 ชั่วโมงเช่นเดิม ซึ่งโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 3,800 แห่งจะเรียนเฉพาะวิชาที่มีความจำเป็นเท่านั้น อย่างไรก็ตามจะได้มีการหารือเรื่องตัวชี้วัดต่างๆ กับคณะกรรมการจัดทำหลักสูตร รวมทั้งเรื่องหนังสือเรียนและแบบเรียนที่จะต้องสอดคล้องกับหลักสูตรที่จะปรับปรุงใหม่ด้วย)
ที่มา กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 20 ตุลาคม 2558