ศธ.หาทางคุมกำเนิดผลิตครู เตรียมเสนอคุรุสภาออกหลักเกณฑ์การรับรองปริญญาบัณฑิตครู หากสถาบันการศึกษาใดมีเด็กสอบใบอนุญาตไม่ได้ตามกำหนดต้องยุติการรับนักศึกษา ชี้ทุกวันนี้ผลิตเกินความต้องการมาก "กำจร" เผยขณะที่ สกศ.เสนองานวิจัย ยุบคณะสาขาวิชาผลิตครูในมหาวิทยาลัย 103 แห่ง ให้เหลือสถาบันที่มีคุณภาพจริงๆ แค่ 5 แห่ง
นายสุเทพ ชิตยวงษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ครั้งที่ 2 ประจำปี 2558 ใน 111 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และสำนักงานบริหารการศึกษาพิเศษ (สศศ.) จำนวน 44 กลุ่มวิชา มีตำแหน่งว่างจำนวน 1,611 อัตรา โดยกำหนดประกาศผลสอบในวันที่ 20 ตุลาคมนั้น ขณะนี้มีบางเขตพื้นที่ฯ สามารถประกาศผลได้ก่อนกำหนด อาทิ สำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษา (สพป.) นครราชสีมา เขต 3 มีผู้เข้าสอบ 2,123 คน สอบแข่งขันได้ 62 คน คิดเป็น 2.92% สพป.นครราชสีมา เขต 5 เข้าสอบ 1,162 คน สอบได้ 39 คน คิดเป็น 3.36% สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) 30 เข้าสอบ 473 คน สอบได้ 41 คน คิดเป็น 8.67% สพม.31 เข้าสอบ 520 คน สอบได้ 64 คน คิดเป็น 12.31% สพม.32 เข้าสอบ 877 คน สอบได้ 56 คน คิดเป็น 6.39% และ สพม.33 เข้าสอบ 431 คน สอบได้ 22 คน คิดเป็น 5.10% ซึ่งถือว่ามีผู้สอบผ่านน้อยมาก อย่างไรก็ตาม สพฐ.จะรอผลการสอบในภาพรวมของประเทศ และมาวิเคราะห์ว่าสาเหตุที่มีผู้สอบได้น้อยมาจากอะไร 1.ข้อสอบยาก 2.ผู้เข้าสอบทำข้อสอบไม่ได้ และ 3.ระบบการสอบมีปัญหา ทั้งนี้ ในปีนี้ได้มอบให้มหาวิทยาลัยในพื้นที่เป็นผู้ดำเนินการออกข้อสอบให้เขตพื้นที่ฯ ที่จัดสอบ
ด้าน นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัด ศธ.) กล่าวว่า จากผลการสอบครูผู้ช่วยของ สพฐ.เบื้องต้นประกอบกับรายงานผลการวิจัยเรื่อง "จะปฏิรูปการศึกษาไทยให้ก้าวทันโลกในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างไร" ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ซึ่งมีข้อเสนอของผู้วิจัยให้ยุบคณะสาขาวิชาที่ผลิตครูในมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่มีอยู่ 103 แห่ง ให้คัดเลือกเฉพาะคณะที่มีคุณภาพสูงมาเป็นสถาบันฝึกหัดครู 5 แห่งนั้น ข้อเสนอดังกล่าวเป็นเพียงทางแก้แบบหนึ่ง และคงไม่มีสถาบันผลิตครูแห่งใดที่จะยอมเลิกผลิตไปเอง ดังนั้น ต่อไปสถาบันผลิตครูต้องแข่งขันกันที่คุณภาพของบัณฑิต โดยตนจะเสนอต่อคณะกรรมการคุรุสภาว่าควรมีการกำหนดหลักเกณฑ์การรับรองปริญญาเช่นเดียวกับสาขาพยาบาล ซึ่งถ้าสอบไม่ได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพน้อยกว่ากี่เปอร์เซ็นต์ก็ให้ยุติการรับนักศึกษา ซึ่งในกรณีของคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็ควรมีการกำหนดว่าจบไปแล้วมีจำนวนกี่เปอร์เซ็นต์ที่ไปประกอบวิชาชีพครู ทั้งในสถานศึกษาของรัฐและเอกชน หากไม่ถึงตามเกณฑ์ที่กำหนด คุรุสภาก็ไม่รับรองปริญญา ซึ่งจะส่งผลให้เด็กที่จบมาไม่สามารถประกอบวิชาชีพได้ และสถาบันก็จะหยุดผลิตไปเอง หรือไม่รับนักศึกษาอีก
"ปัจจุบันมีการผลิตบัณฑิตครูมากเกินกว่าความต้องการของรัฐและเอกชนอยู่แล้ว และยังมีบัณฑิตครูที่รองานและไม่ได้ประกอบวิชาชีพครูอีกส่วนหนึ่ง โดยสังเกตได้จากการเปิดสอบบรรจุครูผู้ช่วยของ สพฐ.ทุกครั้งจะมีผู้สมัครกว่า 1 แสนคน ดังนั้นการผลิตออกมามาก แต่ไม่ได้ทำงาน ถือว่าเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศ และไม่ได้ครูที่มีคุณภาพ ดังนั้น ในอนาคตคุรุสภาต้องมีมาตรการเรื่องของการพิจารณาอนุญาตให้เปิดการสอน หรือการรับรองปริญญาด้วย โดยวัดกันที่คุณภาพของบัณฑิตหรือผลผลิต" ปลัด ศธ.กล่าว.
ที่มา หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 20 ตุลาคม 2558