“สุเทพ”เผยผลสอบครูผู้ช่วยครั้งที่ 2 ปี 58 เบื้องต้นพบแต่ละเขตมีคนสอบผ่านเกณฑ์ไม่ถึง 10% เตรียมวิเคราะห์หาสาเหตุ ด้าน “กำจร” เล็งชงบอร์ดคุรุสภากำหนดหลักเกณฑ์พิจารณารับรองปริญญาใหม่
วันนี้ (19 ต.ต.) ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ( กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ครั้งที่ 2 ประจำปี 2558 ใน 111 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และสำนักงานบริหารการศึกษาพิเศษ (สศศ.) จำนวน 1,611 อัตรา โดยกำหนดประกาศผลสอบในวันที่ 20 ต.ค.นั้น ขณะนี้มีบางเขตพื้นที่ฯ สามารถประกาศผลได้ก่อนกำหนด อาทิ สำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษา (สพป.) นครราชสีมา เขต 3 มีผู้เข้าสอบ 2,123 คน สอบแข่งขันได้ 62 คน คิดเป็น 2.92% สพป.นครราชสีมา เขต 5 เข้าสอบ 1,162 คน สอบได้ 39 คน คิดเป็น 3.36% สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) 30 เข้าสอบ 473 คน สอบได้ 41 คน คิดเป็น 8.67% สพม.31 เข้าสอบ 520 คน สอบได้ 64 คน คิดเป็น 12.31% สพม.32 เข้าสอบ 877 คน สอบได้ 56 คน คิดเป็น 6.39% และสพม.33 เข้าสอบ 431 คน สอบได้ 22 คน คิดเป็น 5.10% ซึ่งถือว่ามีผู้สอบผ่านน้อยมาก อย่างไรก็ตาม สพฐ.จะรอผลการสอบในภาพรวมของประเทศและมาวิเคราะห์ว่าสาเหตุที่มีผู้สอบได้น้อยมาจากอะไร 1.ข้อสอบยาก 2.ผู้เข้าสอบทำข้อสอบไม่ได้ และ3.ระบบการสอบมีปัญหา ทั้งนี้ในปีนี้ได้มอบให้มหาวิทยาลัยในพื้นที่เป็นผู้ดำเนินการออกข้อสอบให้เขตพื้นที่ฯที่จัดสอบ
ด้าน รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า จากผลการสอบครูผู้ช่วยของ สพฐ.เบื้องต้นประกอบกับรายงานผลการวิจัยเรื่อง" จะปฏิรูปการศึกษาไทยให้ก้าวทันโลกในศตวรรษที่21ได้อย่างไร"ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ซึ่งมีข้อเสนอของผู้วิจัยให้ยุบคณะสาขาวิชาที่ผลิตครูในมหาวิทยาลัยต่างๆที่มีอยู่103แห่ง ให้คัดเลือกเฉพาะคณะที่มีคุณภาพสูงมาเป็นสถาบันฝึกหัดครู5แห่งนั้นข้อเสนอดังกล่าวเป็นเพียงแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหา ซึ่งคงไม่มีสถาบันใดยอม แต่ต่อไปสถาบันผลิตครูต้องแข่งขันกันที่คุณภาพของบัณฑิต โดยตนจะเสนอคณะกรรมการคุรุสภาว่า ควรมีการกำหนดหลักเกณฑ์การรับรองปริญญา เช่น กำหนดว่าเมื่อเรียนจบแล้วมีกี่เปอร์เซ็นต์ที่ไปประกอบวิชาชีพครู หากไม่ถึงตามเกณฑ์ที่กำหนด คุรุสภาก็ไม่รับรองปริญญา ซึ่งจะส่งผลให้เด็กที่จบรุ่นต่อ ๆ ไปไม่สามารถประกอบวิชาชีพครูได้ สถาบันก็จะหยุดผลิตไปเอง
“ปัจจุบันมีการผลิตบัณฑิตครูมากเกินความต้องการ ขณะที่มีบัณฑิตครูที่รองานและไม่ได้ประกอบวิชาชีพครูอีกส่วนหนึ่ง สังเกตได้จากการเปิดสอบบรรจุครูผู้ช่วยของ สพฐ.ทุกครั้งจะมีผู้สมัครกว่า 1 แสนคน ซึ่งการผลิตออกจำนวนมากแต่ไม่ได้ทำงานตามสายงาน ถือว่าเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ดังนั้นในอนาคตคุรุสภาต้องมีมาตรการในการพิจารณาอนุญาตให้เปิดการสอน หรือ การรับรองปริญญาโดยวัดกันที่คุณภาพของบัณฑิต”รศ.นพ.กำจร กล่าว
ที่มา หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 19 ตุลาคม 2558