เมื่อเอ่ยถึงสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ สิ่งที่ทุกคนนึกถึงคงหนีไม่พ้น กบ เต่า ตะพาบน้ำ ฯลฯ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นสัตว์ที่รู้จักกันมานาน และเป็นอาหารที่หลายๆ ท่านชอบรับประทาน
ในอดีตสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำชาวบ้านออกหาเมื่อเข้าสู่ฤดูฝน เช่น กบ อึ่งอ่าง ส่วน เต่า และตะพาบน้ำ จะได้จากไซที่นำไปดักปลา บางครั้งในไซดักปลาก็จะได้เต่าและตะพาบน้ำติดมาด้วย ซึ่งในความเชื่อของสังคมไทย เชื่อว่าเต่าเป็นสัตว์ที่มีอายุยืน จึงไม่นิยมรับประทานเต่ามากนัก เพราะกลัวว่าเมื่อรับประทานแล้วจะทำให้อายุสั้น แต่จะนำตะพาบน้ำมาประกอบอาหารเสียเป็นส่วนใหญ่
ตะพาบน้ำ จัดได้ว่าเป็นสัตว์น้ำจืดชนิดหนึ่ง อยู่ในประเภทสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ โดยอาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำต่างๆ เช่น ห้วยหนอง คลอง บึง ของประเทศไทย เมื่อสมัยก่อนการจะได้ตะพาบน้ำมาแต่ละครั้ง จะเป็นผลพวงจากการไปหาปลาตามแหล่งน้ำต่างๆ เช่น การทอดแห การลงอวน ซึ่งนานๆ ครั้งจะได้ตะพาบน้ำติดมากับแหหรืออวน อาจกล่าวได้ว่าเป็นการยากที่จะได้ตะพาบน้ำติดมา เมื่อเทียบกับปริมาณปลาต่างๆ ในแหล่งน้ำ เมื่อได้ตะพาบน้ำมาก็จะนำมาประกอบอาหาร ต่อมามีการนำมาเป็นอาหารมากขึ้น ทำให้ตะพาบน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติเริ่มเหลือน้อยลง
แต่ปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องยากต่อไปที่จะหาเนื้อตะพาบน้ำมาเพื่อประกอบอาหาร มีการนำตะพาบน้ำมาเลี้ยงเพื่อให้มีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคอีกทางเลือกหนึ่ง ซึ่งตะพาบน้ำที่นำมาเลี้ยงเป็นตะพาบน้ำพันธุ์ไต้หวัน เรียกได้ว่าประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากตลาดต่างประเทศมีความต้องการ ทำให้มีผู้สนใจที่จะเลี้ยงเป็นอาชีพ หรือหาเป็นรายได้เสริม ดังเช่นเกษตรกรรายนี้ คือ คุณปัทมา คงสำราญ
ฟาร์มคุณปัทมา คงสำราญ ตั้งที่อยู่ บ้านเลขที่ 138/3 หมู่ที่ 3 ตำบลวังลึก อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี
ทำนา ทำสวน เปลี่ยนมา เลี้ยงตะพาบน้ำ สร้างรายได้
เดิมทีก่อนที่จะมาทำฟาร์มเลี้ยงตะพาบน้ำ ได้ทำไร่ และได้นำผลผลิตที่ได้ไปขายตามตลาดเช้า จึงทำให้ได้รู้จักกับเกษตรกรรายหนึ่ง ซึ่งได้เลี้ยงตะพาบน้ำมาก่อน ทำให้คุณพ่อและคุณแม่ของคุณปัทมาเกิดความสนใจในการเลี้ยงตะพาบน้ำ จึงได้ไปศึกษากับเกษตรกรรายดังกล่าวที่มาแนะนำ ตะพาบน้ำที่นำมาเลี้ยงเป็นตะพาบน้ำพันธุ์ไต้หวัน เหตุที่ไม่สามารถนำตะพาบน้ำพันธุ์ไทยมาเลี้ยงได้ เนื่องจากตะพาบน้ำพันธุ์ไทยยังถือว่าเป็นพันธุ์สัตว์น้ำที่ได้รับการคุ้มครอง จึงได้นำลูกตะพาบน้ำพันธุ์ไต้หวันมาเลี้ยงแบบระบบเนื้อมาปล่อยลงบ่อ
“ตะพาบน้ำเลี้ยงเนื้อ เราไม่ต้องจัดการอะไรมาก เพราะว่าตลาดที่เราต้องการส่งมันมีอยู่แล้ว เป็นของที่ตลาดต้องการ ช่วงที่ตลาดต้องการ ตอนที่เริ่มทำ เมื่อปี 2538 เรียกได้ว่า ทำมาเกือบ 20 ปีแล้ว” คุณปัทมา กล่าว
ตะพาบน้ำที่นำมาปล่อยลงบ่อตอนเลี้ยงครั้งแรก คุณปัทมา เล่าว่า มีจำนวน 2,000 ตัว มาปล่อยลงบ่อที่เตรียมไว้ ซึ่งขุดบ่อดิน ขนาด 15x20 เมตร ปล่อยตะพาบน้ำได้ 1,000-2,000 ตัว ใช้กระเบื้องลอน ยาวขนาด 1.50 เมตร ฝังลงดินประมาณ 30 เซนติเมตร ใส่น้ำให้มีระดับ 80 เซนติเมตร ถึง 1 เมตร
ในปีแรกๆ ที่ทำ จะใช้บ่อดิน เพราะเป็นการประหยัดต้นทุน เมื่อฟาร์มมีขนาดใหญ่ขึ้นก็เริ่มทำบ่อปูน การทำบ่อปูน จะขุดให้ได้ระดับลาดเอียงที่ 45 องศา ขนาด 15x20 เมตร ฝังกระเบื้องลอนใต้ดินเหมือนบ่อดิน แต่ขอบบ่อควรมีกระเบื้องลอน สูงประมาณ 40-60 เซนติเมตร เพื่อกันตะพาบน้ำออกจากบ่อ
วิธีการเลี้ยงดู ทำอย่างไร
การเลี้ยงดู อาหารที่ให้ตะพาบน้ำกิน คุณปัทมา เล่าว่า “อาหารช่วงที่ให้จะมีปลาบด อาหารหมู อาหารปลาดุก ผสมกับข้าว จะทำให้ลดต้นทุน เพราะข้าวที่นำมาเป็นส่วนผสม ทำให้ประหยัดต้นทุนไปเยอะ”
จะเห็นได้ว่า การจะประกอบอาชีพต่างๆ สิ่งที่ทุกคนต้องใส่ใจคือ การลดต้นทุนให้มากที่สุด ซึ่งหมายถึง การนำมาซึ่งผลกำไรที่เราต้องการ เพราะถ้าเราไม่มีการเตรียมการที่ดี ทำให้ต้นทุนเราสูงโดยไม่จำเป็น บางฟาร์มที่มีทุนมากหน่อยอาจจะมีการผสมหมู ปลาสด เข้าไป เพื่อให้ตะพาบน้ำเจริญเติบโตได้ดี
“การให้อาหารที่ดี ควรวางด้านใดด้านหนึ่งของบ่อ หรือด้านที่วิดน้ำออก และให้พ้นจากผิวน้ำ 1-2 เซนติเมตร คอยสังเกตดู ซึ่งตะพาบน้ำจะกินอาหารหมดภายใน 2-3 ชั่วโมง ถ้าหมดก่อนเวลาที่กำหนด ควรเพิ่มอาหาร หรือหมดหลังจาก 3 ชั่วโมง ควรลดปริมาณอาหารลง มิเช่นนั้นน้ำในบ่ออาจเกิดการเน่าเสียจากอาหารที่ให้มากไป เกินความจำเป็น” คุณปัทมา กล่าว
วิธีการป้องกันโรค
คุณปัทมา เล่าว่า “ช่วงต้นฤดูฝน ตะพาบน้ำจะมีอาการอ่อนแอ พอเรารู้ว่าช่วงฝนจะมา เราอาจจะต้องให้ยากันไว้ก่อน โดยให้อาทิตย์เว้นอาทิตย์ และช่วงที่น่าเป็นห่วงอีกทีก็ช่วงปลายฤดูหนาว จะเกิดโรคที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง ช่วงฤดูหนาวถ้าอากาศหนาวตะพาบน้ำจะเจริญเติบโตช้า เนื่องจากกินอาหารได้น้อยลง เมื่อเติบโตช้าทำให้แบคทีเรียเข้าไปได้ง่าย อาจทำให้ตะพาบน้ำอ่อนแอและตายได้”
ฤดูฝนที่ฟาร์มของคุณปัทมาจะใช้สารปฏิชีวนะหลายตัว เพื่อป้องกันโรคที่จะเกิดกับตะพาบน้ำ การใช้แต่ละครั้งก็จะดูความเหมาะสมของฤดูกาล ยาที่ให้จะมีตั้งแต่ให้ตะพาบน้ำกินและสาดลงบ่อ อาจเรียกได้ว่าเป็นความชำนาญของเจ้าของฟาร์มที่จะต้องรู้โดยประสบการณ์ ว่าแต่ละช่วงควรดูแลอย่างไร ศัตรูที่ต้องระวังที่จะมากินลูกตะพาบน้ำขนาดเล็ก ได้แก่ นกกระยาง งู กบ เพราะตะพาบน้ำขนาดเล็กกระดองยังอ่อน ทำให้สัตว์ดังกล่าวกินตะพาบน้ำเป็นอาหาร อาจป้องกันด้วยการนำตาข่ายมากั้นไว้ให้รอบขอบบ่อที่เลี้ยง
ตลาดส่วนใหญ่ส่งนอก
ขนาดตะพาบน้ำที่ตลาดต้องการ จะอยู่ที่อายุประมาณเกือบ 8 เดือน ถึง 1 ปี ซึ่งจะมีน้ำหนักที่ 800 กรัม ถึง 1 กิโลกรัม ต่อตัว ราคาจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 220 บาท ซึ่งราคาจะแพงไปตามขนาด ยิ่งตะพาบน้ำมีขนาดใหญ่ราคาจะแพง ถ้ามีขนาด 1.5 กิโลกรัม ขึ้นไป จะขายกิโลกรัมละ 320 บาท
ตลาดส่งขาย จะเป็นตลาดต่างประเทศส่วนใหญ่ คือ ประเทศจีน จะนิยมรับประทานเนื้อตะพาบน้ำมาก ทำให้ฟาร์มของคุณปัทมามีการตลาดที่แน่นอน สามารถป้อนเข้าตลาดได้ตามที่ต้องการ โดยที่ฟาร์มของคุณปัทมาจะมีบริษัทส่งออกมารับถึงที่ เมื่อตะพาบน้ำได้ขนาดตามที่ต้องการ
คุณปัทมา บอกว่า จะไม่ค่อยได้จับขายหน้าฟาร์ม เพราะการที่ลงไปจับในบ่อ หรือไปกวนตะพาบน้ำอาจทำให้เกิดอาการบาดเจ็บ จะทำให้เกิดโรคตามมา ซึ่งส่วนใหญ่จะวิดน้ำออกทั้งบ่อ แล้วจับตะพาบน้ำขายทีเดียว เมื่ออายุครบกำหนดตามที่ต้องการของบริษัทส่งออก
วิธีการขยายพันธุ์เพื่อการค้า
เมื่อเริ่มเลี้ยงชุดแรกจนส่งขายได้จนหมด คุณปัทมาได้นำชุดใหม่มาลงบ่อ เพื่อให้ได้ลูกตะพาบน้ำสำหรับขาย
“เมื่อทางการตลาดเริ่มดีขึ้น ราคาก็โอเค พอรับได้ พอมีกำไร เมื่อขายชุดแรกออกไป ก็สั่ง พ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ เข้ามา อัตราที่สามารถเลี้ยงพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ได้ อยู่ที่ 1,000 ตัว ต่อบ่อ แต่ที่บ่อเราเอาแม่พันธุ์ 500 ตัว พ่อพันธุ์ 200 ตัว เพราะพ่อพันธุ์สามารถผสมกับแม่พันธุ์ได้หลายตัว” คุณปัทมา กล่าว
เมื่อตะพาบน้ำผสมพันธุ์แล้ว ถึงระยะวางไข่จะมีที่สำหรับให้ตะพาบน้ำวางไข่โดยเฉพาะ จากนั้นก็นำไข่ที่ได้จากที่วางไข่ นำมาฟักในที่สำหรับฟัก เพื่อให้ได้ตัวอ่อนที่สมบูรณ์
“พอเราฟักลูกเสร็จ ก็จะมีคนรับซื้อลูก รับซื้อไข่ต่อไป ลูกตะพาบน้ำจะมีปัญหาเรื่องการส่งออก เพราะเวลาส่งขายอัตราการตายจะสูง ซึ่งถ้าทำไม่ดีเกิดเชื้อรากับลูกตะพาบน้ำ ต่อมาก็จะส่งเป็นไข่ออกไป ให้ลูกค้าไปฟักเอง การดูไข่ว่าผสมเรียบร้อยไหม ให้ดูที่สีของเปลือก มีสีขาวขุ่น กับขาวใส ถ้าสีขาวขุ่นครึ่งฟอง แสดงว่าฟองนั้นติดเชื้อ มีการผสมแล้ว” คุณปัทมา กล่าว
การดูสีของไข่ตะพาบน้ำ อาจไม่ต้องใช้เทคนิคอะไรมาก มีหลักการดังที่คุณปัทมากล่าวข้างต้น ไข่ที่มีเชื้อผสมเรียบร้อย ทางฟาร์มของคุณปัทมาจะขายอยู่ที่ ฟองละ 3 บาท ส่วนลูกตะพาบน้ำที่ฟักได้ระยะ 1 เดือน ตัวยาวประมาณ 3 เซนติเมตร ขายอยู่ที่ตัวละ 8 บาท
สำหรับผู้ที่สนใจจะเลี้ยงตะพาบน้ำ เพื่อเป็นอาชีพเสริม คุณปัทมา แนะนำว่า “ควรที่จะมีใจรัก ศึกษาหาข้อมูลก่อน เพราะบางทียังมีรายละเอียดที่ต้องศึกษาให้รอบคอบ บางทีเราอาจคิดว่า เราทำได้ แต่ที่จริงอาจมีอะไรที่มากกว่านั้น”
ผู้ที่มีปัญหาต่างๆ ก็สามารถติดต่อมาที่คุณปัทมาได้ ทางฟาร์มยินดีให้คำแนะนำ ทางด้านการเลี้ยง การให้อาหาร การตลาด ส่วนผู้ศึกษาข้อมูลดีแล้ว ต้องการจะลงทุนแต่ยังหาตลาดไม่ได้ ไม่รู้ว่าจะหาซื้อลูกตะพาบน้ำได้ที่ไหน ก็ติดต่อซื้อได้ที่คุณปัทมา เมื่อเลี้ยงจนตะพาบน้ำใหญ่แล้วทางคุณปัทมาจะเป็นสื่อกลางติดต่อพ่อค้าคนกลางเพื่อตกลงราคาการขายกันเอง โดยไม่รับหัวคิวแน่นอน
หากมีข้อสงสัย หรืออยากเยี่ยมชมฟาร์ม ก็ติดต่อกับทางฟาร์มของ คุณปัทมา คงสำราญ ยินดีให้ข้อมูล ติดต่อทางหมายเลขโทรศัพท์ (087) 711-9474
สุรเดช สดคมขำ(เรื่อง-ภาพ)
ขอบคุณที่มา และชมภาพประกอบได้ที่ หนังสือพิมพ์มติชนออนไลน์ วันที่ 18 ตุลาคม 2558