พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวภายหลังพิธีมอบโล่เชิดชูเกียรติเสมา ป.ป.ส. ปีการศึกษา 2556 ตามโครงการสถานศึกษาสีขาว ปลอดยาเสพติดและอบายมุข กระทรวงศึกษาธิการ ให้แก่หน่วยงาน สถานศึกษา และบุคลากร จำนวน 1,890 คน เมื่อวันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม 2558 ณ หอประชุมพุทธมณฑล อำเภอพุทธมณฑล เกี่ยวกับ นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ที่กำลังดำเนินการตาม Road Map ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งจะมีระยะเวลาถึงเดือนกรกฎาคม 2559 ดังนี้
1. การดูแลบุคลากรทางการศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการอย่างถูกต้องเหมาะสมและมีเหตุมีผล โดยเปรียบบุคลากรทางการศึกษาว่า เป็นเสมือนม้าศึกที่จะร่วมรบไปกับรองแม่ทัพ (รมว.ศึกษาธิการ) และแม่ทัพใหญ่ (นายกรัฐมนตรี) จึงเน้นให้ทั้งกระทรวงศึกษาธิการและบุคลากรต่างมอบสิ่งดีๆ ซึ่งกันและกัน ซึ่งหนึ่งในนโยบายที่จะเข้ามาดูแลบุคลากรทางการศึกษาในขณะนี้คือเรื่องหนี้สิน ในเบื้องต้นจะพยายามให้ครูปรับตัวเองโดยการที่ใช้ชีวิตอยู่อย่างไม่เป็นหนี้ใคร โดยได้สั่งการให้มีการตรวจสอบบัญชีเงินเดือนครูว่ามีการหักภาระหนี้สินต่างๆ จากเงินเดือนมากน้อยเพียงใด เพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาต่อไป
2. นโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ (Moderate Class More Knowledge) ซึ่งจะดำเนินการนโยบายดังกล่าวกับโรงเรียนนำร่อง 3,800 แห่ง ในภาคการศึกษาที่ 2 ปีการศึกษา 2558
3. การปรับหลักสูตรภาษาอังกฤษ โดยจะเน้นให้นักเรียนได้เรียนเนื้อหามากกว่าไวยากรณ์ และเน้นภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร เพื่อให้เด็กสามารถสื่อสารกับชาวต่างชาติได้ ไม่กลัวที่จะพูดคุยกับชาวต่างชาติ
4. ปรับสังกัดของอาชีวะเอกชน จากเดิมสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ให้เข้ามาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) แทน เพื่อส่งเสริมให้การอาชีวศึกษาทั้งของรัฐและเอกชนมีมาตรฐานเดียวกัน
5. ให้ความสำคัญกับกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาระดับที่เกี่ยวข้องมีทุนทรัพย์ในการเรียน ในสาขาที่ขาดแคลน
6. การแก้ปัญหาการทุจริต เช่น สกสค., องค์การค้าของ สกสค. ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการกำลังเข้าไปแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
7. นโยบายด้านงบประมาณ กระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงหนึ่งที่มีความพร้อมด้านงบประมาณ แต่ยังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากงบประมาณได้เต็มที่ จึงได้มีแนวทางในการนำงบประมาณต่างๆ มาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด อาทิ การจ้างครูที่อายุเกิน 60 ปี มาทำการสอนในรายวิชาที่ขาดแคลนครู รวมถึงงบประมาณในการประชุมสัมมนาของข้าราชการกว่า 1,300 ล้านบาท ฯลฯ ดังนั้น การใช้งบประมาณจะต้องสอดคล้องกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน กล่าวคือ เมื่อใช้งบประมาณทางการศึกษาจำนวนมาก ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนจะต้องดีด้วย
8. บทบาทของผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา กำลังพิจารณาถึงแนวโน้มความเป็นไปได้ในการกระจายอำนาจของเขตพื้นที่การศึกษาลงไปในแต่ละอำเภอ
9. การประเมินคุณภาพสถานศึกษาภายนอก จากการหารือกับสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) (สมศ.) ยังไม่มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน เนื่องจากตัวชี้วัดในการประเมินยังไม่สอดคล้องกับนโยบายที่กระทรวงกำลังขับเคลื่อน รวมทั้งมีการหารือเกี่ยวกับการแบ่งระดับ (Division) ของโรงเรียน เพื่อให้เกิดความเสมอภาคแก่ทุกโรงเรียนในการประเมิน ดังนั้น หากจำเป็นก็อาจจะต้องเลื่อนการประเมินออกไปก่อน
10. การประเมินเพื่อมีและเลื่อนวิทยฐานะของข้าราชการครู จะปรับให้มีการประเมินหลายแบบ โดยเน้นไปที่การประเมินจิตวิญญาณของความเป็นครู ไม่เน้นการประเมินจากเอกสาร
ที่มา กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 12 ตุลาคม 2558