ผู้กู้ช.พ.ค.พึ่งศาลปกครองกลางขอร่วมดูกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคง ตามโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.“คำสุข”จี้ สกสค.ทบทวนการยุติจ่ายหนี้แทนครู
วันนี้(12ต.ค.) นายคำสุข สาอ้าย ประธานเครือข่ายกองทุนการสวัสดิการเงินกู้การฌาปนกิจ สงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.)แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตนพร้อมด้วยสมาชิก ช.พ.ค. ซึ่งเป็นผู้ใช้สิทธิกู้เงินโครงการสวัสดิการเงินกู้จากธนาคารออมสิน ตามโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค. รวม 61 คน ได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการ ศึกษา (สกสค.) ต่อศาลปกครองกลาง โดยขอให้เพิกถอนข้อบังคับคณะกรรมการสกสค. ว่าด้วยกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคงตามโครงการสวัสดิการ เงินกู้ช.พ.ค. พ.ศ.2558 และขอให้ผู้แทนสมาชิก ช.พ.ค. ผู้กู้เงินโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค. และคณะกรรมการ สกสค. ร่วมกันวางระบบบริหารกองทุนเงินสนับสนุนฯ ช.พ.ค.ใหม่ ให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล ซึ่งศาลปกครองกลางก็ได้ประทับรับฟ้องแล้ว หลังจากนี้ต้องรอคำวินิจฉัยของศาล
“ข้อบังคับกองทุนเงินสนับสนุนฯ ที่ออกปี 2558ได้ละเลยหลักการสำคัญที่มาของเงินกองทุน ซึ่งมีอยู่ประมาณ 10,000 กว่าล้านบาทว่าเป็นเงินที่มาจากการประกันหนี้ที่สมาชิกผู้กู้เงินตามโครงการ สวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค. ประมาณ 400,000 คน ต้องจ่ายเงินประกันหนี้คนละ 2,000 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 800 ล้านบาท และรวมกับเงินดอกเบี้ยที่ธนาคารออมสินจ่ายกลับคืนมา เพื่อการบริหารจัดการโครงการและเพื่อประโยชน์แก่สมาชิกผู้กู้ร้อยละ 1 บาท ซึ่งการที่ บอร์ดสกสค. เข้ามาบริหารจัดการกองทุนเงินสนับสนุนฯ กันเองนั้น ไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล และไม่เคารพสิทธิของสมาชิกช.พ.ค. ผู้เป็นเจ้าของเงินกองทุนเงินสนับสนุนฯ อย่างแท้จริง ผมเห็นว่าการบริหารกองทุนเงินสนับสนุนฯ ควรให้ผู้แทนสมาชิกช.พ.ค.เข้าไปมีส่วนในการบริหารจัดการด้วย” นายคำสุข กล่าวและว่า ส่วนกรณีที่สำนักงานสกสค. มีหนังสือถึงธนาคารออมสิน ยุติการจ่ายหนี้แทนผู้กู้ที่ค้างชำระติดต่อกัน 3 งวดนั้น ตนไม่เห็นด้วย ควรมีการหารือทบทวนในเรื่องนี้ใหม่.
ที่มา หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 12 ตุลาคม 2558