(9 ต.ค.58) นายบัญชา ชลาภิรมย์ คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จากการสำรวจความคิดเห็นของนักเรียนไทย "ความสุขหลังบ่ายสอง : นโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้" โดยครุศาสตร์โพล โครงการจับตาการศึกษาไทย Education Watch คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเครือข่าย ในกลุ่มตัวอย่างนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลายจากทั่วประเทศ จำนวน 2,089 คน พบว่า นักเรียน 76.42% เห็นด้วยถึงเห็นด้วยอย่างยิ่งกับนโยบาย โดย 75.64% เห็นว่านโยบายดังกล่าวจะทำให้มีความสุขในการเรียนมากขึ้น และ 60.51% เห็นว่าการเรียนวิชาหลัก 5 วิชาในช่วงเช้าหนักถึงหนักเกินไป
"สำหรับช่วงเวลาหลังบ่ายสอง กิจกรรม 3 อันดับแรกที่นักเรียนต้องการทำ ได้แก่ กิจกรรมชมรมเลือกเสรี เช่น ทำโครงงาน ละคร วาดรูป ฯลฯ การได้ทำการบ้านให้เสร็จ และกิจกรรมเสริมทักษะชีวิต เช่น ทำกับข้าว ฯลฯ โดยนักเรียนที่มีฐานะค่อนข้างสูง ต้องการให้อนุญาตให้ออกไปเรียนพิเศษนอกโรงเรียน ในขณะที่นักเรียนที่มีฐานะค่อนข้างต่ำ ต้องการทำกิจกรรมฝึกทักษะอาชีพหรือภูมิปัญญาท้องถิ่นมากกว่า หากจะให้นโยบาย "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้" ได้ผล นักเรียนมากกว่า 60% เห็นว่าสิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการควรทำเพิ่มเติมคือ การลดการบ้าน/รายงานลง และการปรับลดเนื้อหาที่ไม่จำเป็นออก นอกจากนี้ยังมีความต้องการให้เพิ่มคุณภาพการสอนของครู ปรับเปลี่ยนการสอบเข้ามหาวิทยาลัย" นายบัญชา กล่าว
ที่มา หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 9 ตุลาคม 2558