เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม นายสุเทพ ชิตยวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า กรณีที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดรับสมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีทั่วไป ครั้งที่ 2 ประจำปี 2558 โดยสอบข้อเขียน ภาค ก ความรู้ความสามารถทั่วไป ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคุณธรรม จริยธรรมและอุดมการณ์ความเป็นครู มาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษา และมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน วันที่ 10 ตุลาคม ภาค ข ความรู้ความสามารถเฉพาะตำแหน่ง วันที่ 11 ตุลาคม สอบสัมภาษณ์ ภาค ค ความเหมาะสมกับตำแหน่งและวิชาชีพ วันที่ 12 ตุลาคม และประกาศผลการสอบ วันที่ 20 ตุลาคม โดยมีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) รวมสำนักงานบริหารการศึกษาพิเศษ (สศศ.) เปิดสอบ 111 เขต 168 สนามสอบ รับ 1,611 อัตรา ใน 44 กลุ่มวิชา ล่าสุดได้ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครสอบ พบผู้มีสิทธิสอบ 111,118 คน จากผู้สมัคร 111,428 คน มีผู้สมัครมากกว่า 1 เขต 31 คน ถือว่าผิด หลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการข้าราชการ ครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กำหนด โดยทั้งหมดจะถูกตัดสิทธิสอบทันที
นายสุเทพกล่าวอีกว่า ส่วนความพร้อมในการจัดสอบนั้น ที่ผ่านมานายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการ กพฐ. ได้มอบให้ตนประชุมคณะกรรมการกำกับติดตามตรวจสอบความพร้อมการสอบครูผู้ช่วย ทั้งการจัดสอบ ข้อสอบ การจัดห้องสอบ และป้องการทุจริต เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ ก.ค.ศ.กำหนด โดยในครั้งนี้มี 11 เขตที่ผู้อำนวยการ สพท.เกษียณอายุราชการ ดังนั้น เพื่อให้การสอบเรียบร้อย สพฐ.จึงสั่งการให้ผู้อำนวยการ สพท.ใกล้เคียงเป็นพี่เลี้ยงดูแลการจัดสอบให้เป็นไปอย่างเรียบร้อย ทั้งนี้ นายการุณกำชับและให้ความสำคัญกับมาตรการป้องกันทุจริตการสอบมาโดยตลอด โดยได้เปิดวอร์รูมให้แจ้งปัญหาทุจริตสอบครูผู้ช่วย ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีผู้แจ้งเบาะแสการทุจริตเพิ่มเติม เข้ามา ถือว่ามีความพร้อมค่อนข้างมาก
"ส่วนการตรวจสอบกรณีที่ครูและผู้บริหารโรงเรียนในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) นครราชสีมา เขต 3, 4, 6, 7 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เขต 21 (หนองคาย-บึงกาฬ) เปิดติวข้อสอบครูผู้ช่วยโดยใช้ชื่อ SMART Teacher & ฮักแพงแบ่งปัน ตามโรงแรมในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ เก็บค่าติวรายละ 1,800-2,000 บาท และให้เขตพื้นที่ฯตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงนั้น ยังไม่พบข้อมูลว่ามีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริต จึงให้เขตพื้นที่ฯดำเนินการต่อไป แต่หนังสือพิมพ์มติชนรายวันเบื้องต้นจะไม่ให้บุคคลทั้งหมดเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการสอบครูผู้ช่วยในครั้งนี้" นายสุเทพกล่าว
นายสุเทพกล่าวอีกว่า ส่วนที่ สพม.24 (กาฬสินธุ์) ที่ไม่รับสมัครผู้สมัครที่จบวิชาเอกคณิตศาสตร์ศึกษาของมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เนื่องจากชื่อสาขาวิชาเอกไม่ตรงกับที่ประกาศรับสมัครนั้น เขตพื้นที่ฯ ได้แก้ไขปัญหาโดยตรวจสอบคุณสมบัติตามที่ สพฐ.แนะนำให้ดูที่จำนวนหน่วยกิตเป็นหลัก ว่าครบถ้วนตามที่กำหนดหรือไม่ เมื่อตรวจสอบคุณสมบัติ ปรากฏว่ามีผู้มีสิทธิสอบทั้งหมด 12 คน จากผู้สมัคร 16 คน โดยอีก 3 คน ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูหมดอายุ ส่วนอีก 1 คน จำนวนหน่วยกิตไม่ครบ ตามที่กำหนด ซึ่งการตรวจสอบคุณสมบัติเป็นไป ตามหลักเกณฑ์ของ ก.ค.ศ. และได้แจ้งให้ทางคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มข. รับทราบแล้ว ส่วนผู้ที่ไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ก็ได้รับสิทธิในการสอบครั้งนี้ จึงถอนฟ้องแล้ว" นายสุเทพกล่าว
ที่มา มติชน ฉบับวันที่ 10 ต.ค. 2558 (กรอบบ่าย)